แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ที่ดินที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรสกับผู้ร้องอันเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย แต่ผู้ร้องก็เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 และตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้จำกัดเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นที่จะร้องขอไม่ เมื่อผู้ร้องขอมิได้ถูกตัดมิให้รับมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้ที่มีสิทธิรับมรดกย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกโดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ในปัญหาข้อกฎหมายว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ และข้อให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางชุม สุยะรินทร์หรือวงค์ราช จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2523 ก่อนจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องนางชุมอยู่กินเป็นสามีภริยากับนายยนตร์ วงค์ราช ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางตุ่นแก้ว เบี้ยปินวงศ์ นายกำพล วงค์ราช และนายเอ๊ก วงค์ราช นายโตย เมืองมูล บิดาของนางชุมถึงแก่ความตายไปแล้ว ส่วนนางสีลา เมืองมูล มารดาของนางชุมยังมีชีวิตอยู่นางชุมถึงแก่ความตายไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2542 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ขณะถึงแก่ความตายนางชุมมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 821 เป็นมรดก มีเหตุขัดข้องในการจัดการเพราะทายาทอื่นไม่ยอมร่วมจัดการและเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่าต้องให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกดังกล่าว และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางชุม สุยะรินทร์หรือวงค์ราช ผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางชุม สุยะรินทร์หรือวงค์ราช ผู้ตายหรือไม่เห็นว่า แม้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 821จะเป็นทรัพย์สินที่นางชุมผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรสกับผู้ร้องอันเป็นสินส่วนตัวของนางชุมไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ร้องร่วมกับนางชุมทำมาหาได้ไม่ทำให้ผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วม แต่ผู้ร้องก็เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของนางชุม ซึ่งผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรคสอง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้” เมื่อผู้ร้องเป็นทายาทโดยชอบธรรมผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ หาใช่เฉพาะผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นที่จะร้องขอได้ไม่ และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดก ดังนั้นผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอยู่แล้ว
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ และขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก แต่เมื่อพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าการจัดการมรดกของนางชุมมีเหตุขัดข้อง และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718 ทั้งทายาทอื่นก็ให้ความยินยอมจึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
พิพากษากลับ ให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางชุม สุยะรินทร์หรือวงค์ราชผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย