คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาค่างวดรถยนต์ติดต่อกันถึง 7 งวด จำเลยจึงใช้สิทธิตามสัญญายึดรถยนต์คืนจากโจทก์ ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่ฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยมิใช่ฝ่ายผิดสัญญา คดีจึงฟังไม่ได้ตามฟ้อง ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีต่อไปว่า เมื่อจำเลยยึดรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมและให้จำเลยคืนเงินค่างวดรถยนต์ที่ได้รับชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 กระทำการแทน จำเลยที่ 1 โจทก์ซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซูจากจำเลย 1 คัน ราคา 714,990 บาท โดยวิธีผ่อนชำระเป็น 30 งวด ๆ ละ 23,840 บาท จำเลยส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ครอบครองนับแต่วันทำสัญญา โจทก์ชำระหนี้แล้วเป็นจำนวน552,120 บาท คงค้างอยู่เป็นจำนวน 162,870 บาท โจทก์นำรถยนต์เข้าซ่อมแซมที่อู่รับซ่อมรถยนต์ที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่นจำเลยได้นำรถยนต์ไปจากการครอบครองของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยไม่ได้บอกกล่าวเลิกสัญญากับโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืน หรือชำระเงิน 552,120 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ผิดนัดชำระราคารถยนต์ที่ซื้อไปจากจำเลยที่ 1รวม 7 งวด เป็นเงิน 160,000 บาทเศษ และนำรถยนต์ไปหลบซ่อนเป็นการผิดสัญญา จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงใช้สิทธิตามสัญญายึดรถคืนมาโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะของจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมโจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ผ่อนชำระราคาตามสัญญา จำเลยจึงใช้สัญญายึดรถยนต์คันพิพาทคืนจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการผิดสัญญา แต่การที่จำเลยใช้สิทธิยึดรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์เท่ากับเป็นการแสดงเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทอีกต่อไปเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อสัญญาที่ตกลงไว้ต่อกันจำเลยต้องคืนเงินค่ารถยนต์พิพาทที่ได้รับชำระไว้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์กลับสู่ฐานะเดิมสำหรับจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 429,120 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยที่ 1ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว จึงให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมและให้จำเลยคืนเงินที่ได้รับชำระมาทั้งหมดแก่โจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความสำคัญว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยโดยวิธีผ่อนชำระราคาเป็นงวดรวม 30 งวด จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ครอบครองตลอดมา โจทก์ได้ชำระหนี้ราคารถยนต์ให้จำเลยแล้วบางส่วนเป็นเงิน 552,120 บาท ระหว่างโจทก์นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่รถยนต์อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น จำเลยให้ลูกจ้างมานำรถยนต์ไปจากความครอบครองของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นการกระทำที่มิชอบ จำเลยให้การว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญาโดยค้างชำระราคารถถึง 7 งวด เป็นเงิน 160,000 บาทเศษ จำเลยทวงถามแล้วโจทก์เพิกเฉย จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงใช้สิทธิยึดรถยนต์คืนมาโดยชอบ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายตาฟ้องหรือไม่ ตามสัญญาขายรถยนต์พิพาทเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.1 ข้อ 8 ระบุว่า หากผู้ซื้อผิดนัดการชำระเงินก็ดี ผู้ขายหรือผู้รับหมายจากผู้ขายมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทได้ทันที โดยไม่ต้องเรียกร้องและบอกกล่าวให้ผู้ซื้อทราบก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาค่างวดรถยนต์ติดต่อกันถึง 7 งวด จำเลยจึงใช้สิทธิตามสัญญายึดรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์ ดังนั้น จำเลยจึงมิใช่ฝ่ายผิดสัญญาเมื่อจำเลยมิใช่ฝ่ายผิดสัญญา คดีจึงฟังไม่ได้ตามฟ้องศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีต่อไปว่า เมื่อจำเลยยึดรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม และให้จำเลยคืนเงินค่างวดรถยนต์ที่ได้รับชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็นการไม่ชอบ”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share