แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เหตุที่ทำให้โจทก์ผู้ขนส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยชักช้าเพราะเรือสินค้าไม่สามารถเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ปได้เนื่องจากความแออัดของท่าเรือดังกล่าวซึ่งมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ และมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของตัวแทนหรือลูกจ้างของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 52(13)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน85,738.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน85,178.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน413,219.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 398,797.15 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนถึงวันชำระเสร็จแก่จำเลย
คู่ความทุกฝ่ายยื่นคำร้องขอให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อนุญาตให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 46
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 85,738.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 85,178.07 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 7 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยชักช้าหรือไม่เพียงใด โจทก์มีนายประวัติ เฉินประยูร พนักงานฝ่ายเอกสารของบริษัทอาเซี่ยนนาวิเกชั่น จำกัด เบิกความเป็นพยานว่า บริษัทนี้ประกอบกิจการเป็นตัวแทนให้แก่สายการเดินเรือหยางหมิงไลน์ โจทก์มอบหมายให้สายการเดินเรือหยางหมิงไลน์ เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยโดยใช้เรือชื่อแอตแลนติกบริดจ์ ขนส่งสินค้าจากท่าเรือนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกามายังท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 วัน แต่เมื่อเรือแอตแลนติกบริดจ์เดินทางมาถึงท่าเรือแอนต์เวิร์ปประเทศเบลเยี่ยม ปรากฏว่าท่าเรือแออัดไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้เรือไม่อาจเข้าเทียบท่าได้ตามกำหนด สายการเดินเรือหยางหมิงไลน์พยายามแก้ไขโดยนำเรือหมิงมูนมาขนส่งสินค้าแทนแต่ยังต้องรอและเสียเวลานานถึง 3 สัปดาห์ นายอนุชาผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายทรงศักดิ์ สถาปนชัย ซึ่งเคยเป็นพนักงานของโจทก์เบิกความสนับสนุน นายประวัติว่า เมื่อเรือแอตแลนติกบริดจ์เดินทางถึงท่าเรือแอนต์เวิร์ปปรากฏว่าเรือเข้าไปเทียบท่าไม่ได้เพราะท่าเรือแออัดไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์ตามโทรสารที่บริษัทหยางหมิงไลน์ จำกัด แจ้งให้ทราบลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2540เอกสารหมาย ล.28 และโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้วตามเอกสารหมาย ล.31 การเกิดภาวะแออัดของท่าเรือเช่นนี้ นายอนุชายืนยันว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้และไม่อาจทราบล่วงหน้า ส่วนจำเลยไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่า เหตุที่ทำให้โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยชักช้าก็เพราะเรือสินค้าไม่สามารถเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ปได้เนื่องจากความแออัดของท่าเรือดังกล่าว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ถ้าท่าเรือแอนต์เวิร์ปแออัดจริงโทรสารจากประเทศเบลเยี่ยมเอกสารหมาย ล.30 ก็น่าจะระบุว่าท่าเรือแออัด เมื่อไม่มีข้อความระบุไว้เช่นนั้นโทรสารที่สายการเดินเรือหยางหมิงไลน์แจ้งมาให้ทราบตามเอกสารหมาย ล.28จึงเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า เหตุที่โทรสารตามเอกสารหมาย ล.30 ไม่มีข้อความระบุว่าท่าเรือแอนต์เวิร์ปแออัดก็เพราะก่อนหน้านั้น 3 วัน โทรสารเอกสารหมาย ล.28ได้แจ้งให้ทราบแล้ว โทรสารฉบับนี้จึงไม่ต้องแจ้งซ้ำเพียงแต่แจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่าจะถ่ายสินค้าจากเรือแอตแลนติกบริดจ์ลงเรือหมิงมูนแทน และเรือหมิงมูนจะออกจากท่าเรือแอนต์เวิร์ปวันที่ 22 กรกฎาคม 2540 โดยกำหนดถึงประเทศสิงคโปร์วันที่ 13 สิงหาคม 2540 โทรสารทั้งสองฉบับจึงไม่ขัดแย้งและไม่เป็นพิรุธดังที่จำเลยอุทธรณ์เมื่อการส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยชักช้าเนื่องจากการแออัดของท่าเรือแอนต์เวิร์ปซึ่งมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ผู้ขนส่งและมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของตัวแทนหรือลูกจ้างของโจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 52(13) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน