คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3778/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองและ ส. ต่างเป็นลูกหนี้โจทก์ร่วมกัน โจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่จำเลยทั้งสองกับ ส. ก็ยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ดังนั้นการที่โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และของ ส. แต่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2เพียงรายเดียว และรับชำระหนี้จาก ส. 7,200,000 บาท แล้วปลดจำนองให้ ส. นั้นจึงเป็นการใช้สิทธิของโจทก์ที่กระทำได้โดยชอบ การที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ใดล้มละลายเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลเฉพาะบุคคลนั้น ๆ จะนำเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้อง ส. ให้ล้มละลาย ทั้งที่ ส. เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยทั้งสองมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ย่อมไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงจำนวนเงินรายได้ต่อเดือนมาแสดง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินมายืนยันอีกทั้งทรัพย์สินบางรายการก็ติดจำนอง กับเป็นมรดกระหว่างพี่น้องจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องตามมาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองและนายสมาน ลีพิลา ให้ร่วมกันชำระหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืม ค้ำประกันและจำนอง ซึ่งศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองและนายสมานร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ดำเนินการเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 27134 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาพร้อมสิ่งปลูกสร้างของนายสมานที่จำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาด เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ ทั้งจำเลยทั้งสองและนายสมานยังมีทรัพย์สินพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่การกระทรวงการคลังโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 38 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ให้ความเห็นชอบให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)ลงวันที่ 14 กันยายน 2541 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าดำเนินคดีในฐานะเป็นโจทก์
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและนายสมาน ลีพิลา ผู้ค้ำประกัน ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 9,632,724.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน9,073,404.70 บาท หากจำเลยทั้งสองและนายสมานไม่ชำระให้นำทรัพย์ที่จำเลยที่ 2และนายสมานจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบจำเลยทั้งสองและนายสมานไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 และนายสมานจำนองไว้เป็นประกันและขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ไป หักค่าธรรมเนียมชั้นบังคับคดีแล้วโจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 2,833,299 บาท ต่อมานายสมานผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์รวม 24 ครั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 7,200,000 บาท โจทก์นำเงินดังกล่าวหักชำระดอกเบี้ยและเงินต้นถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2535 จำเลยทั้งสองและนายสมานค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 6,700,106.94 บาท โจทก์จึงถอนการยึดทรัพย์จำนองของนายสมานหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองและนายสมานมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ คิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองและนายสมานค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 10,378,601.58 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองทางไปรษณีย์ตอบรับ 4 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และโจทก์ทวงถามโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันอีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้โจทก์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดหรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ยอมถอนจำนองให้นายสมานเพราะแม้นายสมานเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยทั้งสอง แต่นายสมานผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์อย่างสม่ำเสมอ รวมเป็นเงิน 7,200,000 บาท เป็นการบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์ในระดับที่ผู้ค้ำประกันควรจะรับผิดแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองและนายสมานต่างเป็นลูกหนี้โจทก์ร่วมกันโจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่จำเลยทั้งสองกับนายสมานก็ยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ดังนั้น การที่โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และของนายสมานแต่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เพียงรายเดียว และรับชำระหนี้จากนายสมาน 7,200,000 บาท แล้วปลดจำนองนายสมานนั้นจึงเป็นการใช้สิทธิของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์สามารถกระทำได้โดยชอบ ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินพอชำระหนี้โจทก์จนครบหรือไม่ และมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ใดล้มละลายเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลเฉพาะบุคคลนั้น ๆ จะนำเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องนายสมานให้ล้มละลายทั้งที่นายสมานเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยทั้งสองมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ย่อมไม่ได้ คดีนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 9 โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดแล้วยังมีหนี้ค้างชำระอยู่อีก10,378,601.58 บาท โจทก์ทวงถามโดยส่งหนังสือทวงถามทางไปรษณีย์ตอบรับและประกาศทางหนังสือพิมพ์ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ และโจทก์ยังนำสืบอีกด้วยว่า ได้ติดตามสืบหาทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสองแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินอื่นที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) และ (9) จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้คดีอ้างว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัทฮวงไท จำกัด ได้รับเงินเดือนเดือนละ 100,000 บาท รวมค่าคอมมิชชั่นแล้วจำเลยที่ 1 มีรายได้เดือนละประมาณ 200,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่หินอ่อน จำกัด แต่ละปีบริษัทมีกำไรประมาณ 4,000,000 ถึง 5,000,000 บาท จำเลยที่ 2 มีบ้านและที่ดินที่หมู่บ้านเสนานิเวศน์ ราคาประมาณ 8,000,000 บาท ที่ดินและบ้านที่อำเภอเมืองนครราชสีมาราคาประมาณ 80,000,000 บาท ที่ดินที่จังหวัดเชียงใหม่ ราคา 2,000,000 บาทเศษและที่ดินที่อำเภอพิมายจังหวัดนครราชสีมา ราคาประมาณ 1,000,000 บาท เห็นว่าเงินรายได้ประจำเดือนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับเดือนละประมาณ 200,000 บาท นั้นจำเลยที่ 1 มิได้นำหลักฐานมายืนยันว่าได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจริง ทั้งเมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวแล้วจำเลยที่ 1 ยังมีเงินเหลืออยู่เดือนละเท่าใดก็ไม่ได้ความแน่ชัด ส่วนจำเลยที่ 2นั้น ก็ปรากฏว่าบ้านและที่ดินที่หมู่บ้านเสนานิเวศน์ติดจำนองธนาคารเป็นเงิน3,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ส่วนที่ดินและบ้านที่อำเภอเมืองนครราชสีมานั้นก็เป็นทรัพย์มรดกระหว่างพี่น้อง คงมีที่ดินที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่ามีราคา 2,000,000 บาท และ 1,000,000 บาท ตามลำดับ แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้นำหลักฐานเช่น โฉนดที่ดินมายืนยันความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อศาลข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดอันจะเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

Share