คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินเชื่อบัตรเครดิตที่เจ้าหนี้ให้แก่ลูกค้าเพื่อซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าและสถานประกอบการค้า เจ้าหนี้ได้ออกบัตรเครดิตให้แก่ลูกค้า แล้วลูกค้าของเจ้าหนี้สามารถนำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าและสถานประกอบการที่มีข้อตกลงกับเจ้าหนี้ โดยลูกค้าไม่ต้อง ชำระราคาสินค้าและการใช้บริการด้วยเงินสดแต่ร้านค้า และสถานประกอบการจะส่งรายการค่าใช้จ่ายไปเรียกเก็บเงิน จากเจ้าหนี้เมื่อเจ้าหนี้ชำระเงินให้แก่ร้านค้าและสถานประกอบการ แทนลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตไปแล้วจะเรียกเก็บเงินจากลูกค้า ผู้ใช้บัตรเครดิตภายหลัง อันเป็นการเรียกเอาเงินที่เจ้าหนี้ ได้ออกทดรองไป แต่การเบิกเงินเกินบัญชีเป็นการเบิกเงิน จากโจทก์ไปโดยตรงหาใช่เจ้าหนี้ออกเงินทดรองแทนลูกค้า ของเจ้าหนี้ไปก่อนดังเช่นกรณีลูกค้าใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า และบริการไม่ การให้สินเชื่อบัตรเครดิตและการเบิกเงิน เกินบัญชีจึงมีลักษณะแตกต่างกัน แม้สินเชื่อบัตรเครดิตและการเบิกเงินเกินบัญชีต่างมีวงเงิน กำหนดไว้เหมือนกัน ก็เป็นเพียงการจำกัดมิให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิต ซื้อสินค้าและบริการเกินไปกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ในการให้ สินเชื่อบัตรเครดิต และจำกัดมิให้ลูกค้าเบิกเงินจาก บัญชีเงินฝากกระแสรายวันเกินกว่าวงเงินที่กำหนดใน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเท่านั้น ทั้งการที่เจ้าหนี้ทดรองจ่ายเงิน ค่าสินค้าและค่าใช้บริการให้แก่ร้านค้าและสถานประกอบการ แทนลูกค้าไปก่อน แล้วนำไปหักออกจากวงเงินที่ให้สินเชื่อ บัตรเครดิตก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อมิให้เกินกำหนดวงเงินที่เจ้าหนี้ให้สินเชื่อบัตรเครดิตเท่านั้น หาได้ทำให้หนี้เงินที่เจ้าหนี้ออก ทดรองไปสิ้นสุดลงและตกเป็นหนี้ตามวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตไม่ จำนวนเงินที่เจ้าหนี้จ่ายค่าซื้อสินค้าและค่าใช้บริการให้แก่ ร้านค้าและสถานประกอบการยังคงเป็นเงินที่เจ้าหนี้ ออกทดรองแทนลูกหนี้ไป และในการให้การบริการแก่ลูกค้า ผู้ใช้บัตรเครดิต เจ้าหนี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้ง ดอกเบี้ยด้วย เจ้าหนี้จึงเป็นผู้ประกอบการค้าทำการงานต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตกรุงไทยของเจ้าหนี้ และการที่ เจ้าหนี้ชำระเงินแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการแทนลูกค้า ผู้ใช้บัตรเครดิตไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงิน จากลูกหนี้ภายหลัง เป็นการเรียกเอาเงินที่เจ้าหนี้ ได้ออกเงินทดรองไป สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ผู้ประกอบการค้ารับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป มีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7)ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเป็นบางส่วนเป็นการรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 193/14(1) ประกอบมาตรา 193/15 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าว เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) คดีล้มละลาย เจ้าหนี้ฎีกาว่า เจ้าหนี้ยังมิได้บอกกล่าว ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา เจ้าหนี้ยังไม่อาจ บังคับสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ได้อายุความจึงยัง ไม่เริ่มนับนั้น เจ้าหนี้เพิ่งจะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้น โต้เถียงในชั้นฎีกาเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2539ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตจำนวน 1,647,067.19 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้วไม่มีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้วงเงินสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงิน 25,235.89 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ส่วนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้วงเงินค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการขาดอายุความต้องห้ามมิให้รับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เห็นควรให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน 25,235.89 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก ตามความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้วงเงินสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตเป็นจำนวน 25,235.89 บาทคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้วงเงินค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการขาดอายุความหรือไม่ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2533 ลูกหนี้ได้ขอใช้บัตรเครดิตกรุงไทยกับเจ้าหนี้และเจ้าหนี้อนุมัติให้ลูกหนี้ใช้บัตรเครดิตตามวงเงินที่กำหนดไว้ 2 ประเภท คือวงเงินค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการจำนวน 20,000 บาทและวงเงินสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตจำนวน10,000 บาท ในการใช้บัตรเครดิตสำหรับวงเงินทั้งสองประเภทดังกล่าวลูกหนี้ต้องยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและสัญญาเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2533 ลูกหนี้จึงยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต เพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดในการใช้บัตรเครดิตเจ้าหนี้ตกลงให้ลูกหนี้ใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติและใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้ากับบริการจากร้านค้าและสถานประกอบการที่มีข้อตกลงกับเจ้าหนี้โดยถือว่าจำนวนเงินที่ลูกหนี้ใช้บัตรเครดิตเป็นเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเดินสะพัดระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้มี2 บัญชี คือ บัญชีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับบัญชีสินเชื่อธนวัฏบัตรเครดิต บัญชีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการจะเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากร้านค้าและสถานประกอบการที่มีข้อตกลงกับเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้รับแจ้งรายการค่าใช้จ่ายจากร้านค้าและสถานประกอบการ เจ้าหนี้จะชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวแทนลูกหนี้ แล้วเจ้าหนี้จะส่งใบแจ้งหนี้ค่าใช้จ่ายให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าเพื่อนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันก่อนวันหักทอนบัญชีซึ่งเจ้าหนี้จะหักทอนบัญชีทุกวันที่10 ของเดือน หากลูกหนี้ไม่นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากเพื่อชำระหนี้เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ย นับแต่เจ้าหนี้อนุมัติให้ลูกหนี้ใช้บัตรเครดิต ลูกหนี้ได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการหลายครั้งลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แต่ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ซึ่งในวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 ลูกหนี้ยังเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน1,621,855.26 บาท
ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า สินเชื่อบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งเปรียบเสมือนสินเชื่อเงินกู้ โดยสินเชื่อดังกล่าวจะให้วงเงินแก่ลูกค้าในการใช้จ่ายซึ่งไม่ต่างกับวงเงินในการเบิกเงินเกินบัญชี โดยในการเบิกเงินเกินบัญชีจะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันโดยใช้เช็ค ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตเมื่อลูกค้าใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการแล้ว ร้านค้าและสถานประกอบการจะเรียกเก็บเงินจากเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ชำระเงินแทนลูกค้าไปแล้วจะนำจำนวนเงินดังกล่าวหักชำระจากวงเงินกู้สินเชื่อบัตรเครดิตทันที หนี้ที่เกิดจากการทดรองจ่ายจึงสิ้นสุดและตกเป็นหนี้ตามวงเงินกู้สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในเรื่องอายุความจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30นั้น เห็นว่า สินเชื่อบัตรเครดิตที่เจ้าหนี้ให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าและสถานประกอบการนี้เจ้าหนี้จะออกบัตรเครดิตกรุงไทยให้แก่ลูกค้า แล้วลูกค้าของเจ้าหนี้สามารถนำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าและสถานประกอบการที่มีข้อตกลงกับเจ้าหนี้ โดยลูกค้าไม่ต้องชำระราคาสินค้าและการใช้บริการด้วยเงินสด แต่ร้านค้าและสถานประกอบการจะส่งรายการค่าใช้จ่ายไปเรียกเก็บเงินจากเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ชำระเงินให้แก่ร้านค้าและสถานประกอบการแทนลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตไปแล้วจะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตภายหลังอันเป็นการเรียกเอาเงินที่เจ้าหนี้ได้ออกทดรองไปแต่การเบิกเงินเกินบัญชีเป็นการเบิกเงินจากโจทก์ไปโดยตรงหาใช่เจ้าหนี้ออกเงินทดรองแทนลูกค้าของเจ้าหนี้ไปก่อนดังเช่นกรณีลูกค้าใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการไม่การให้สินเชื่อบัตรเครดิตและการเบิกเงินเกินบัญชีจึงมีลักษณะแตกต่างกัน แม้สินเชื่อบัตรเครดิตและการเบิกเงินเกินบัญชีต่างมีวงเงินกำหนดไว้เหมือนกัน ก็เป็นเพียงการจำกัดมิให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการเกินไปกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ในการให้สินเชื่อบัตรเครดิต และจำกัดมิให้ลูกค้าเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเกินกว่าวงเงินที่กำหนดในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเท่านั้นทั้งการที่เจ้าหนี้ทดรองจ่ายเงินค่าสินค้าและค่าใช้บริการให้แก่ร้านค้าและสถานประกอบการแทนลูกค้าไปก่อนแล้วนำไปหักออกจากวงเงินที่ให้สินเชื่อบัตรเครดิตก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อมิให้เกินกำหนดวงเงินที่เจ้าหนี้ให้สินเชื่อบัตรเครดิตเท่านั้นหาได้ทำให้หนี้เงินที่เจ้าหนี้ออกทดรองไปสิ้นสุดลง และตกเป็นหนี้ตามวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตดังที่เจ้าหนี้ฎีกาไม่ จำนวนเงินที่เจ้าหนี้จ่ายค่าซื้อสินค้าและค่าใช้บริการให้แก่ร้านค้าและสถานประกอบการยังคงเป็นเงินที่เจ้าหนี้ออกทดรองแทนลูกหนี้ไปเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการให้การบริการแก่ลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิต เจ้าหนี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย เจ้าหนี้จึงเป็นผู้ประกอบการค้าทำการงานต่าง ๆให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตกรุงไทยของเจ้าหนี้ และการที่เจ้าหนี้ชำระเงินแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการแทนลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ภายหลัง เป็นการเรียกเอาเงินที่เจ้าหนี้ได้ออกเงินทดรองไป ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้คดีนี้จึงถือได้ว่า เจ้าหนี้ผู้ประกอบการค้ารับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) คดีนี้ได้ความว่าลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเป็นบางส่วนเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นการรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) ประกอบมาตรา 193/15 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้คดีนี้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2539 พ้นกำหนด 2 ปีแล้วสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้วงเงินค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการจึงขาดอายุความ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)
ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า เจ้าหนี้ยังมิได้บอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา เจ้าหนี้จึงยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ได้ อายุความจึงยังไม่เริ่มนับนั้น เห็นว่า เจ้าหนี้เพิ่งจะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นโต้เถียงในชั้นฎีกาเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share