คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การมอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1164 เป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการบริษัทด้วยกันมิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทเช่นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนบริษัท
โจทก์เป็นบริษัทถ้าจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องแทนต้องกระทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้แก่บุคคลใดก็ได้ เมื่อ ธ. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ ศ. ฟ้องคดีแทนโจทก์ แม้ ศ. มิได้เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของโจทก์ซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการของโจทก์ก็เป็นการมอบอำนาจโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การนำสืบว่า ผู้กู้ยืมได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินที่จำนองไว้เป็นประกันเงินกู้แล้วมิใช่เป็นการนำสืบหลักฐานการชำระเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืม หรือนำสืบว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้ว จึงรับฟังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์โดยนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้มอบอำนาจให้นายศักดิ์ เกี่ยวการค้าฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 50,000,000 บาท โดยกู้ยืมในรูปวงเงินกู้จำนวน 45,000,000 บาท และวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 5,000,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดชำระเงินต้นคืนให้โจทก์เป็นรายเดือนโดยเมื่อรวมดอกเบี้ยในแต่ละงวดแล้วชำระให้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ1,320,000 บาท และจะชำระเงินต้นให้โจทก์เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2533หากผิดนัดไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนดและจำนวนที่ตกลงกัน ยอมให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดนับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันในวงเงิน 50,000,000 บาท และจำเลยที่ 4 ค้ำประกันในวงเงิน 30,000,000 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตกลงร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงบางส่วน คงค้างชำระเงินต้นจำนวน 5,803,051.15 บาทและดอกเบี้ยจำนวน 12,559,258.21 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 18,362,309.36 บาทนอกจากนี้จำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2529โดยมีข้อตกลงว่าเช็คที่จำเลยที่ 2 นำมาขายลดกับโจทก์นั้น เมื่อถึงกำหนดแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 2 ตกลงชำระเงินต้นตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารเรียกเก็บได้ในการให้กู้ยืมเงินนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาหัวหมาก ลงวันที่ 9 กันยายน 2529 สั่งจ่ายเงินจำนวน 5,000,000 บาท มาขายลดกับโจทก์ในวันเดียวกันนั้นและได้รับเงินตามสัญญาขายลดเช็คไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น แต่จำเลยที่ 2ไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ค้างชำระเงินจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์จำนวน5,000,000 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยจำนวน 3,661,109.37 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 18,362,309.36 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,803,051.15 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 8,661,109.37 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยธนาคารขายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ภายใต้การจัดการของโจทก์ โจทก์ได้คืนหลักประกันต่าง ๆ ให้แก่จำเลยแล้ว เว้นแต่ใบหุ้นของจำเลยที่ 4 จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งโจทก์อ้างว่าหาไม่พบ ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตามสัญญาขายลดเช็ค 5,000,000 บาท ไม่เกี่ยวกับมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4การนำมาฟ้องรวมกันเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาลและสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2เป็นคดีต่างหาก

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 18,362,309.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,803,051.15 บาท นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ข้อ 3 ของหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตรงกับหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ระบุกำหนดจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ว่า คือนายประจิตรยศสุนทร นายกกรรมการและประธานกรรมการบริหาร หรือนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใดคนหนึ่งหรือกรรมการอื่นสองคนร่วมกันมีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์ได้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ในวงเงิน 50,000,000 บาท ซึ่งเป็นวงเงินกู้จำนวน45,000,000 บาท และวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 5,000,000 บาท ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน 13 โฉนด ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.11 เป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ไว้ในลำดับ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 50,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 30,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 หลังจากทำสัญญากู้เงินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินกู้ไปจากโจทก์รวม 18 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 45,000,000 บาท ตามหนังสือหลักฐานการรับเงินเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2532 จำเลยที่ 1 ขายสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินทั้ง 13 โฉนดตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.11 ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทไดโกอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในราคา 120,000,000 บาท

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า นายศักดิ์ เกี่ยวการค้า ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่ได้เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของโจทก์ซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการด้วยกัน การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 1144, 1158และ 1164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่นั้น เห็นว่า การมอบอำนาจตามบทมาตราที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างเป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการบริษัทด้วยกัน มิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทเช่นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนบริษัทในคดีนี้สำหรับการฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีด้วยตนเองหรือโดยมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทน และในกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทน การมอบอำนาจนั้นย่อมต้องกระทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้แก่บุคคลใดก็ได้ เว้นแต่โจทก์มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจเช่นนั้นไว้เป็นพิเศษว่าต้องมอบให้แก่บุคคลประเภทใดโดยเฉพาะ จึงจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับนั้นด้วย ที่โจทก์มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ให้นายศักดิ์ เกี่ยวกับการค้า มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์นั้น เมื่อได้ความว่านายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจเช่นนั้น แม้นายศักดิ์มิได้เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของโจทก์ซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการของโจทก์นายศักดิ์ก็ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น…

ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า หนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ได้ระงับไปแล้วเพราะหากหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ไม่ระงับไป โจทก์ย่อมไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1ไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้ง 13 โฉนดตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.11 ไป นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ในการกู้เงินจากโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ไว้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารหมาย จ.9 อันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารหมาย จ.9 นั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสอง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.11 ที่จำนองไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวแล้วนั้นมิใช่เป็นการนำสืบหลักฐานการชำระเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืม หรือนำสืบว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้วแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 จึงไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องและเมื่อจำเลยที่ 1ยังค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์เช่นนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันในวงเงินคนละ 50,000,000บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยที่ 4 ค้ำประกันในวงเงิน30,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share