แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ และไม่เคยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยคนใดที่มีภาระจำต้องชำระหนี้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 5 จะมิได้ให้เหตุผลหรือรายละเอียดแห่งการปฏิเสธไว้แต่คำให้การของจำเลยที่ 2และที่ 5 ดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นคำให้การที่ปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การต่อไปในข้อที่ 9 ก็เป็นเพียงคำให้การที่หยิบยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นต่อสู้ว่า หากจำเลยที่ 2 และที่ 5 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 5 ก็ยังหลุดพ้นจากความรับผิดต่อผู้ให้กู้ โดยเหตุที่ผู้ให้กู้ได้ปล่อยให้ทรัพย์จำนองหลุดพ้น มิใช่เป็นคำให้การที่ยอมรับ หรือถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงมิได้ขัดแย้งกันเอง หรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การปฏิเสธในเรื่องการทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นประเด็นที่โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5ทำสัญญาค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานยังมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เป็นผลให้คดีโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการค้ำประกันเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ดังนี้คดีของโจทก์จึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแสดง โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน แม้ตามสัญญากู้เงินจะมีข้อความว่าผู้กู้ได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท และในขณะทำหนังสือสัญญานี้ผู้กู้ได้รับเงินไปครบถ้วนและเรียกร้อยแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์และที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ในวันที่ทำสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 2,000,000 บาทและหลังจากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1ได้รับเงินไปอีก 1,000,000 บาท กรณีหาจำเป็นที่โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ในภายหลังอีกไม่ เพราะโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือในจำนวนเงิน 3,000,000 บาทที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้กู้ยืมมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลถึงการรับเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญากู้เงินได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส.ซึ่งมิได้เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจหลักทรัพย์และเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654ที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 14 ต่อปี มาปรับแก่คดี เมื่อสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส. ตามเอกสารหมาย จ.6 กำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ19.5 ต่อปี เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินจากจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองในอัตราเดียวกันด้วยได้ แต่โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แม้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส.ตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์และโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระดอกเบี้ยเสร็จสิ้นแล้วจึงนำมาชำระต้นเงิน ซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้ว แม้ดอกเบี้ยนั้นจะเกินอัตราตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ ก็มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ ที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นรับฟังตารางคำนวณดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.13 มาวินิจฉัยเป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ไม่ชอบ เพราะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นลอย ๆ นั้น เมื่อศาลศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้วเพียงใดหรือไม่ โดยมิได้นำเอกสารหมาย จ.13 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 5ฎีกาในข้อนี้ขึ้นมาอีก ศาลฎีกาจึงไม่จึงต้องวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน947,813.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ในต้นเงิน395,900 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ยอมชำระให้บังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 5 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 395,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2529 จนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2533 ดอกเบี้ยต่อจากนั้นอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่26 สิงหาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5ให้ร่วมกันรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไป 5 ปี และนับนัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 5 โฉนดที่ดินเลขที่ 10577 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ในจำนวนต้นเงินไม่เกิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 5 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้จำนองหากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 5เฉพาะหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน คงให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาจำนองนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การในข้อ 2 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ และไม่เคยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยคนใดที่มีภาระจำต้องชำระหนี้แก่โจทก์ และในคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ในข้อ 7 จำเลยที่ 2 และที่ 5ให้การว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7ถึงเลข 10 ลงวันที่ 20 เมษายน 2526 ทั้งสี่ฉบับ กระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จึงไม่อาจนำมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ดังกล่าว แม้จะมิได้ให้เหตุผลหรือรายละเอียดแห่งการปฏิเสธไว้ แต่คำให้การของจำเลยที่ 2และที่ 5 ดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นคำให้การที่ปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 2 และที่ 5 จะให้การต่อไปข้อที่ 9 ก็เป็นเพียงคำให้การที่หยิบยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นต่อสู้ว่า หากจำเลยที่ 2 และที่ 5 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 5ก็ยังหลุดพ้นจากความรับผิดต่อผู้ให้กู้ โดยเหตุที่ผู้ให้กู้ได้ปล่อยให้ทรัพย์จำนอง คือที่ดินอีก 2 แปลง ที่จำเลยที่ 1 ได้จำนองไว้เป็นประกันการชำระหนี้ หลุดพ้นไปจากสิทธิเรียกร้องของผู้ให้กู้ยืมมิใช่เป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 2และที่ 5 จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของโจทก์หรือไม่ตามที่โจทก์ฎีกาถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การปฏิเสธในเรื่องการทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 และหมายเลข 10 จึงเป็นประเด็นที่โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันเมื่อสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานโดยอ้างว่าเป็นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ทำไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.10 ยังมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5เป็นผู้ค้ำประกัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เป็นผลให้คดีโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการค้ำประกัน เป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ก็อุทธรณ์ว่าสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ทำให้ไว้แก่โจทก์มิได้ทำการขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 103(1)ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 และ จ.10 เป็นพยานหลักฐานว่ามีการค้ำประกันเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นการคัดค้านการฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ดังนี้ จะถือว่าข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันเป็นอันยุติดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 เป็นประการแรกข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้มาขอกู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท โดยรับเงินไป 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2526 ได้รับเงินกู้ไปจำนวน 2,000,000 บาท และในวันที่ 20 มิถุนายน 2526 ได้รับเงินกู้ไปอีกจำนวน 1,000,000 บาทแม้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 จะมีข้อความว่าผู้กู้ได้กู้เงินจากโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท และในขณะทำหนังสือสัญญานี้ผู้กู้ได้รับเงินไปครบถ้วนและเรียบร้อยแล้ว แต่ตามคำฟ้องโจทก์และที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ในวันที่ทำสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1ได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 2,000,000 บาท และหลังจากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปอีก1,000,000 บาท ไม่ตรงตามที่ระบุในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.6 ที่มีข้อความว่าในขณะทำหนังสือสัญญากู้ผู้กู้ได้รับเงินไปครบถ้วนและเรียบร้อยแล้วก็ตาม กรณีหาจำเป็นที่โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ในภายหลังอีกไม่ เพราะโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือในจำนวนเงิน3,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้กู้ยืมมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลถึงการรับเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญากู้เงินได้และเมื่อโจทก์นำสืบว่าในวันที่ 26 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวน3,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้นำไปชำระดอกเบี้ยและต้นเงินยังคงมีต้นเงินที่ค้างชำระแก่โจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนี้จำเลยที่ 5จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 5จึงเป็นอันพ้นจากความผูกพันไปด้วยหาได้ไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 เป็นประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 5ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 10577 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.11 แม้จะฟังว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ยืมจะขาดอายุความ โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองก็ยังคงทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 เป็นประการที่สามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจหลักทรัพย์และเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี มาปรับแก่คดีเมื่อสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.6 กำหนดดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี จึงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 จากจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองในอัตราเดียวกันด้วยได้แต่โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายวรกาญจน์ พยานโจทก์โดยจำเลยที่ 5มิได้นำสืบหักล้างว่า จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2529 แม้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สากลเคหะ จำกัดตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน3,000,000 บาท แก่โจทก์ และโจทก์ได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปชำระดอกเบี้ยเสร็จสิ้น แล้วจึงนำมาชำระต้นเงินซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 ที่ว่า เงินที่จำเลยที่ 1ชำระแก่โจทก์ไปแล้วจำนวนหนึ่งนั้น ต้องเอาชำระดอกเบี้ยเสียก่อนจึงจะนำไปชำระเงินต้น ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้ว แม้ดอกเบี้ยนั้นจะเกินอัตราตามกฎหมายตกเป็นโมฆะก็ตาม ก็เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ จำเลยที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้คดีให้หลุดพ้นจากความรับผิดไปได้และเมื่อหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินบางส่วนแล้วยังเหลือยอดเงินต้นจำนวน 395,900 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในต้นเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2529 จนถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 5 ซึ่งต้องรับผิดด้วยในฐานะผู้จำนอง จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ แต่เนื่องจากเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ในข้อ 2(6) เป็นข้อที่จำเลยที่ 5 ได้ให้การไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจึงเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ส่วนอุทธรณ์ข้อ 2(7) และข้อ 2(8) เป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 5 จึงชอบที่จะอุทธรณ์ได้ และเมื่อจำเลยที่ 5 มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และ246 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ จำเลยที่ 5 ย่อมมีสิทธิฎีกาได้และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ข้อ 2(7) และข้อ 2(8) ไปเสียทีเดียวโดยมิต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้และยกขึ้นอุทธรณ์ได้ จำเลยที่ 5จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
สำหรับอุทธรณ์ข้อ 2(8) ที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นรับฟังตารางคำนวณดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.13 มาวินิจฉัยเป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ไม่ชอบ เพราะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นลอย ๆ นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้วเพียงใดหรือไม่โดยมิได้นำเอกสารหมาย จ.13มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่โจทก์ ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์