คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1139/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแรงงาน จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำการจงใจให้จำเลยได้รับความเสียหายและทุจริตต่อหน้าที่ในการยื่นประมูลงานรับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดล.โดยโจทก์สมรู้กับผู้เข้าร่วมประมูลงานรับเหมาก่อสร้างรายอื่น เพื่อให้ผู้ประมูลงานรายนั้นได้งานก่อสร้างดังกล่าวไปอันเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงในชั้นพิจารณาจำเลยไม่สืบพยานตามคำให้การ แต่กลับนำสืบว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ในการประมูลงานก่อสร้างศาลากลาง จังหวัด อ. โดยโจทก์รับเงินจากผู้ประมูลรายอื่นมาเป็นประโยชน์ส่วนตน แล้วโจทก์ไม่ยื่นซองประมูลประกวดราคางานก่อสร้าง โดยอ้างว่าโจทก์คำนวณแบบศาลากลางในรายละเอียดไม่ทัน ซึ่งเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนี้ศาลแรงงานจะยกเรื่องที่โจทกกระทำการทุจริตตามที่จำเลยนำสืบมาวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่หาได้ไม่
เมื่อจำเลยไม่นำสืบให้เห็นอย่างชัดแจ้งตามคำให้การต่อสู้คดี และศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ในขณะโจทก์ยื่นซองประกวดราคารับเหมาก่อสร้างศาลากลางจังหวัด ล. ที่จำเลยให้การไว้โจทก์ได้ถูกคนร้ายขัดขวางและทำร้ายได้รับบาดเจ็บ จำเลยจึงไม่ให้โจทก์ไปทำงานอีกเพราะเกรงจะเป็นอันตราย ดังนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมาจึงเป็นยุติว่า โจทก์ไม่ได้กระทำการจงใจให้จำเลยได้รับความเสียหาย และจำเลยมิได้ทุจริตต่อหน้าที่ในการยื่นประมูลงานรับเหมาก่อสร้างศาลากลางจังหวัดล. ตามที่จำเลยให้การ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่มีเหตุเพียงพอเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 165,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 55,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 165,000 บาท นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างประจำงวดวันที่ 1 ถึง 30 กันยายน 2537 เป็นเงิน27,500 บาท และงวดวันที่ 1 ถึง 15 ตุลาคม 2537 เป็นเงิน 27,500 บาท รวมทั้งเงินผลประโยชน์ตามข้อตกลงในการหางานหรือขายสินค้าเป็นเงิน 5,341,500 บาทโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 165,000 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 55,000 บาท ค่าชดเชย 165,000 บาท ค่าผลประโยชน์ที่ได้จากการขายและหางาน 5,341,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโดยไม่มีข้อตกลงและสัญญาเป็นพิเศษว่า หากโจทก์ได้รับคำสั่งจากจำเลยให้ทำงานโดยสามารถหางานจากบุคคลภายนอกด้วยการประมูลงานมาให้จำเลยหรือบริษัทในเครือ หรือเสนอขายสินค้าของจำเลยหรือบริษัทในเครือให้แก่บุคคลภายนอกได้ จำเลยจะจ่ายเงินให้โจทก์ร้อยละห้าของราคางาน หรือราคาสินค้าที่ขายได้ โจทก์ต้องทำงานและได้รับเงินตามสัญญาจ้างที่ทำกันไว้เท่านั้นในระหว่างทำงานจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทยานยนต์สากลอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ไทเกอร์อินดัสตรี จำกัดแต่สั่งให้โจทก์ปฏิบัติงานที่บริษัทเหว่ยเสิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งรองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายก่อสร้างได้รับเงินเดือนทุกเดือนจากจำเลย โจทก์มีหน้าที่ยื่นซองประกวดราคารับเหมาก่อสร้างตามคำสั่งของบริษัทดังกล่าว โดยไม่มีข้อตกลงว่าหากโจทก์ประมูลงานได้จะมีสิทธิได้รับเงินร้อยละห้าของมูลค่างานแต่อย่างใด ในระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานใหแก่บริษัทเหว่ยเสิ้ง (ประเทศไทย) จำกัดประมาณเดือนสิงหาคม 2537 โจทก์ได้รับคำสั่งให้ยื่นประมูลงานรับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดลำปางหลังจากนั้นโจทก์หยุดงานโดยไม่แจ้งให้บริษัทเหว่ยเสิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือจำเลยทราบนับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2537 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2537 อันเป็นการละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเกินกว่า 3 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุอันสมควรและโจทก์ไม่มาทำงานที่บริษัทเหว่ยเสิ้ง (ประเทศไทย) จำกัดหรือที่บริษัทจำเลยอีก ในการปฏิบัติงานของโจทก์ที่จังหวัดลำปาง โจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจโดยฮั้วกับผู้เข้าประมูลงานรายอื่นเพื่อให้ผู้ประมูลงานรายนั้นได้งานไป อันเป็นการจงใจทำให้บริษัทเหว่ยเสิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือจำเลยที่เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ทั้งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2537 โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย รวมทั้งเงินค่าผลประโยชน์ตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยเลิกจ้างโจทกเมื่อวันที่14 ตุลาคม 2537 จึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ การเลิกจ้างของจำเลยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 53,167 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์มิได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำการจงใจให้จำเลยได้รับความเสียหายและทุจริตต่อหน้าที่ในการยื่นประมูลงานรับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดลำปางโดยโจทก์ฮั้วกับผู้เข้าร่วมประมูลงานรับเหมาก่อสร้างรายอื่น เพื่อให้ผู้ประมูลงานรายนั้นได้งานก่อสร้างดังกล่าวไป อันเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง แต่ในชั้นพิจารณา จำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ฟังข้อเท็จจริงได้ตามคำให้การเช่นนั้นจำเลยกลับนำสืบว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ในการประมูลงานก่อสร้างศาลากลาง จังหวัดอุตรดิตถ์โดยโจทก์รับเงินจากผู้ประมูลรายอื่นมาเป็นประโยชน์ส่วนตน แล้วโจทก์ไม่ยื่นซองประมูลประกวดราคางานก่อสร้างศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยอ้างว่าโจทก์คำนวณแบบศาลากลางในรายละเอียดไม่ทันซึ่งเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนี้ ศาลแรงงานกลางจะยกเรื่องที่โจทก์กระทำการทุจริตในการประมูลงานก่อสร้างศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ตามที่จำเลยนำสืบดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยว่า โจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่หาได้ไม่ เพราะเป็นการวินิจฉัยในเรื่องนอกคำให้การเมื่อจำเลยไม่นำสืบให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ในการประมูลงานก่อสร้างที่จังหวัดลำปางตามคำให้การ ซึ่งเรื่องนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในขณะโจทก์ยื่นซองประกวดราคารับเหมาก่อสร้างศาลากลางจังหวัดลำปาง โจทก์ได้ถูกคนร้ายขัดขวางและทำร้ายได้รับบาดเจ็บ จำเลยจึงไม่ให้โจทกไปทำงานอีกเพราะเกรงจะเป็นอันตราย ซึ่งมีความหมายว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ไม่ได้กระทำการจงใจให้จำเลยได้รับความเสียหายและทุจริตต่อหน้าที่ในการยื่นประมูลงานรับเหมาก่อสร้างศาลากลางจังหวัดลำปางด้วยการฮั้วกับผู้เข้าร่วมประมูลงานรับเหมาก่อสร้างรายอื่นตามคำให้การแต่อย่างใด การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่มีเหตุเพียงพอ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่14 ตุลาคม 2537 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2537 อันเป็นวันครบกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 31,166.61 บาท และค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน165,000 บาท แก่โจทก์อีกด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 31,166.61 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 165,000 บาท แก่โจทก์ส่วนค่าเสียหายกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share