คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8994/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความประมาทของจำเลยที่ 1 เกิดจากการกลับหรือเลี้ยวรถในลักษณะไม่ปลอดภัยในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ขับหรือกลับรถตัดหน้ารถยนต์ที่ ส. ขับมาในระยะกระชั้นชิดตามที่โจทก์ฟ้อง หาก ส. ขับรถยนต์ลงจากเนินด้วยความเร็วที่ไม่สูงและใช้ความระมัดระวังพอสมควรก็จะไม่เกิดเหตุชนกัน จึงถือได้ว่า ส. มีส่วนประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ ส. จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องไล่เบี้ยแก่จำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 307,128 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 298,242.24 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 307,128 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 298,242.24 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ ประเภทคุ้มครองความเสียหายโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 2002 อุดรธานี และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสกลนคร เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางแยกเข้าหมู่บ้านหนองบ่อด้วยความประมาท จำเลยที่ 1 ได้หยุดแล้วถอยรถยนต์บรรทุกเข้าปากทางแยกดังกล่าวเพื่อจะกลับรถ โดยส่วนหน้าของรถยนต์บรรทุกไม่พ้นผิวการจราจร เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยซึ่งขับลงเนินมาชนรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวด้านขวามือได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นายสมพงษ์ ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การขับรถลงจากเนินซึ่งเป็นทางลาดชัน ในเวลากลางคืน ปกติแล้วผู้ขับจะต้องขับด้วย ความระมัดระวัง ยิ่งมีรถแล่นสวนมาเปิดไฟสูงอันอาจทำให้ผู้ขับมองไม่เห็นทางข้างหน้าด้วยแล้ว ผู้ขับจะต้องชะลอความเร็วลง แม้นายสมพงษ์จะเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุขับรถด้วยความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมีรถแล่นสวนทางเปิดไฟสูง พยานได้ลดความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อแสดงว่านายสมพงษ์ขับรถไม่เร็วและได้ใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแผนที่เกิดเหตุ และภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุแล้ว จะเห็นว่า จากยอดเนินถึงบริเวณทางแยกที่เกิดเหตุเป็นทางตรง สองข้างทางไม่มีต้นไม้ขึ้นบดบัง แต่การที่จำเลยที่ 1 กลับรถโดยถอยหลังเข้าทางแยก ส่วนหัวของรถย่อมหันออกถนนใหญ่ ฉะนั้นแสงไฟใหญ่หน้ารถยนต์บรรทุกย่อมจะส่องสว่างออกสู่ถนนใหญ่ นายสมพงษ์ขับรถยนต์ลงจากยอดเนินซึ่งเป็นที่สูงย่อมจะสังเกตเห็นได้แต่ไกล แม้จะอ้างว่าขณะขับลงเนินมีรถแล่นสวนทางมาเปิดไฟสูงใส่ ก็เป็นระยะเวลาสั้น ๆ หากนายสมพงษ์ลดความเร็วลง เมื่อรถที่แล่นสวนผ่านไป นายสมพงษ์ย่อมมีเวลาพอที่จะสังเกตเห็นแสงสว่างจากไฟใหญ่หน้ารถยนต์บรรทุกได้ ที่นายสมพงษ์อ้างว่าเพิ่งจะเห็นรถยนต์บรรทุกเมื่ออยู่ห่างกันประมาณ 4 เมตรเท่านั้น แสดงให้เห็นว่านายสมพงษ์ขับรถยนต์ลงจากเนินด้วยความเร็วสูง โดยมิได้ชะลอความเร็วลงก่อนจะเกิดเหตุทั้งปรากฏว่ารถยนต์ที่นายสมพงษ์ขับบริเวณด้านหน้าได้รับความเสียหายอย่างมาก แสดงถึงการชนที่รุนแรงเนื่องจากรถแล่นมาด้วยความเร็ว นอกจากนี้หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายสมพงษ์ว่าขับรถยนต์ประมาทด้วยความเร็วสูง นายสมพงษ์ก็ยอมให้ทำการเปรียบเทียบปรับแต่โดยดี ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านายสมพงษ์ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อด้วย ส่วนที่ฝ่ายใดประมาทเลินเล่อมากกว่ากันนั้น เห็นว่าความประมาทของจำเลยที่ 1 เกิดจากการกลับหรือเลี้ยวรถในลักษณะไม่ปลอดภัยในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ขับหรือกลับรถตัดหน้ารถยนต์ที่นายสมพงษ์ขับมาในระยะกระชั้นชิดตามที่โจทก์ฟ้อง หากสมพงษ์ขับรถยนต์ลงจากเนินด้วยความเร็วที่ไม่สูงและใช้ความระมัดระวังพอสมควรก็จะไม่เกิดเหตุชนกัน จึงถือได้ว่านายสมพงษ์มีส่วนประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของนายสมพงษ์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องไล่เบี้ยแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share