คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8082/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิต ข้อ 17 ถึงข้อ 22 เป็นข้อความที่ถามไว้เป็นข้อย่อยเกี่ยวกับสุขภาพของ ผู้เอาประกันชีวิต เช่น มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจบ้างหรือไม่ ในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมาเคยเจ็บป่วย เคยได้รับการผ่าตัด เคยรับการรักษาในสถานพยาบาล ถ้าเคย โปรดแจ้งรายละเอียด แบบฟอร์มที่มีข้อความเช่นนี้ตัวแทนจำเลย ผู้มาติดต่อขอเอาประกันชีวิตไม่จำเป็นต้องสอบถามตามข้อความที่ระบุไว้ แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าผู้เอาประกันชีวิตจะต้องอ่านก่อน และปรากฏว่าโจทก์มีอาชีพค้าขายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการย่อมต้องรอบคอบ เมื่อโจทก์อ่านข้อความเหล่านี้แล้ว แต่กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อ 23 ซึ่งระบุว่า ถ้าคำตอบในเรื่องสุขภาพเป็นคำตอบรับ เช่น เคยได้รับการผ่าตัด หรือเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล จะต้องอธิบายรายละเอียดไว้ด้วย ข้อความเหล่านี้มีอยู่ก่อนโจทก์ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิต หาใช่ตัวแทนจำเลยกรอกข้อความดังกล่าวภายหลังไม่ เมื่อโจทก์ไม่แจ้ง ก็ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาปกปิดไม่แจ้งความจริงตามหน้าที่ที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งผู้รับประกันภัยอาจบอกปัด ไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันภัยทราบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง หน้าที่นี้มีน้ำหนักใน การแสดงความสุจริตมากกว่าหน้าที่ของผู้รับประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 866 ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังใน การรับรู้ข้อความจริง โดยผู้รับประกันภัยพึงใช้ความระมัดระวังอย่างคนธรรมดาเช่นวิญญูชนทั่วไปก็พอแล้ว สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะจำเลยย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 101,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่ให้เกินจำนวน 1,875 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการสมัครทำประกันชีวิตของเด็กหญิงภัชญา ผู้เอาประกันซึ่งมีอายุเพียง 4 ปีเศษการให้ถ้อยคำของโจทก์ผู้เป็นบิดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นการแจ้งแทนเด็กหญิงภัชญาบุตรผู้เยาว์ ถือว่าเป็นการแจ้งของเด็กหญิงภัชญาผู้เอาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1570 แล้ว ส่วนปัญหาว่าการแจ้งดังกล่าวจะเป็นเท็จ อันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะหรือไม่ และจำเลยได้บอกล้างโดยชอบแล้วหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยตามที่โจทก์ได้อุทธรณ์ไว้ ซึ่งเป็นการไม่ชอบ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตเด็กหญิงภัชญา บุตรของโจทก์ซึ่งมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ โดยคลอดก่อนกำหนด ทั้งต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อนโจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสัญญาประกันชีวิตเด็กหญิงภัชญาตกเป็นโมฆียะหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ตัวแทนจำเลยได้นำคำขอประกันชีวิตมาให้โจทก์ลงเฉพาะชื่อส่วนข้อความอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กหญิงภัชญาผู้เอาประกันชีวิตนั้นผู้แทนจำเลยกรอกขึ้นเองภายหลัง จึงเป็นกรณีที่ผู้แทนของจำเลยซึ่งมีอาชีพขายประกันไม่ใช้ความระมัดระวังสอดส่องเยี่ยงวิญญูชนจะพึงกระทำ สัญญาประกันชีวิตจึงไม่ตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 866 จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ จากการตรวจดูคำขอเอาประกันชีวิต ปรากฏว่าเป็นแบบฟอร์มที่เว้นช่องให้กรอกข้อความเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ขอเอาประกันชีวิต เช่น ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ ส่วนข้อ 17 ถึงข้อ 22 เป็นข้อความที่ถามไว้เป็นข้อย่อยเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิต เช่น มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจบ้างหรือไม่ ในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมาเคยเจ็บป่วยเคยได้รับการผ่าตัด เคยรับการรักษาในสถานพยาบาล ถ้าเคย โปรดแจ้งรายละเอียด แบบฟอร์มที่มีข้อความเช่นนี้ตัวแทนจำเลยผู้มาติดต่อขอเอาประกันชีวิตไม่จำเป็นต้องสอบถามตามข้อความที่ระบุไว้ แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าผู้เอาประกันชีวิตจะต้องอ่านก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์มีอาชีพค้าขายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการย่อมต้องรอบคอบ เมื่อโจทก์อ่านข้อความเหล่านี้แล้วแต่กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อ 23 ซึ่งระบุว่าถ้าคำตอบในเรื่องสุขภาพเป็นคำตอบรับ เช่นเคยได้รับการผ่าตัด หรือเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล จะต้องอธิบายรายละเอียดไว้ด้วยข้อความเหล่านี้มีอยู่ก่อนโจทก์ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิต หาใช่ตัวแทนจำเลยกรอกข้อความดังกล่าวภายหลังไม่ ทั้งปรากฏตามคำขอเอาประกันชีวิตในข้อ 17 ถึงข้อ 23 ว่า ไม่ได้มีการกรอกข้อความใดเป็นการตอบคำถามในข้อดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่แจ้ง ก็ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาปกปิดไม่แจ้งความจริงตามหน้าที่ที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งผู้รับประกันภัยอาจบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันภัยทราบตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง หน้าที่นี้มีน้ำหนักในการแสดงความสุจริตมากกว่าหน้าที่ของผู้รับประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 866 ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการรับรู้ข้อความจริงโดยผู้รับประกันชีวิตพึงใช้ความระมัดระวังอย่างคนธรรมดาเช่นวิญญูชนทั่วไปก็พอแล้วสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share