แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยมิได้มีส่วนใดเกี่ยวพันไปถึงงานในหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ถูกปิดกิจการและกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าควบคุมกิจการของโจทก์ ในช่วงนี้หากจะมีการโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่กองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กรณีดังกล่าวก็เป็นเพียงขั้นตอนและวิธีการในการเข้าควบคุมกิจการของโจทก์ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้มีธุรกรรมกับโจทก์โดยทั่วไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมสามารถขอตรวจพิสูจน์ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวได้อยู่แล้ว หามีความจำเป็นต้องขอหมายเรียกผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาเป็นพยานไม่
การทำสัญญาผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สินเชื่อกับจำเลยทั้งสาม ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็ได้นำเจ้าหน้าที่สินเชื่อผู้มีหน้าที่และรู้เห็นในการทำสัญญากับจำเลยทั้งสามมาเบิกความเป็นพยานแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมสามารถซักค้านได้อย่างเต็มที่ผู้จัดการเฉพาะกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนนคร จำกัด (มหาชน) เพิ่งได้รับแต่งตั้งหลังจากทางราชการได้เข้าควบคุมกิจการของโจทก์ และเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างว่าจำเป็นต้องขอระบุพยานเพิ่มเติม เพราะศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอหมายเรียกผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาเป็นพยานนั้น ผู้จัดการเฉพาะกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนนคร จำกัด (มหาชน) และผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีอำนาจและบทบาทในแต่ละองค์กรแยกต่างหากจากกัน หน้าที่ของแต่ละคนคงมีอยู่เฉพาะในองค์กรที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น กรณีดังกล่าวย่อมไม่สามารถนำคำเบิกความของแต่ละคนมาทดแทนกันได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ระบุพยานเพิ่มเติมชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน18,154,576.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 40 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย มาเบิกความเป็นพยานศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่สมควรให้หมายเรียก ยกคำขอ ต่อมาวันที่ 30เมษายน 2541 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอระบุผู้จัดการเฉพาะกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนนคร จำกัด (มหาชน) ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุสมควร จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน18,154,576.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอหมายเรียกผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย มาเป็นพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 และคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ระบุอ้างผู้จัดการเฉพาะกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนนคร จำกัด (มหาชน)เป็นพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานผิดสัญญากู้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ค้ำประกันและจำนำจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีมีสาระสำคัญว่า กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งปิดกิจการโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเงินกู้สินเชื่อหมุนเวียนกับโจทก์และสามารถใช้เงินตามจำนวนที่กำหนดได้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 1ไม่มีหนี้สินค้างชำระกับโจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวมิได้มีส่วนใดเกี่ยวพันไปถึงงานในหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินแต่อย่างใด การทำสัญญาผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องของพนักงานฝ่ายสินเชื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสาม ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เมื่อโจทก์ถูกปิดกิจการและกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าควบคุมกิจการของโจทก์ ในช่วงนี้หากจะมีการโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่กองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา กรณีดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนและวิธีการในการเข้าควบคุมกิจการของโจทก์ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้มีธุรกรรมกับโจทก์โดยทั่วไปจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมสามารถขอตรวจพิสูจน์ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวได้อยู่แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 หามีความจำเป็นต้องขอหมายเรียกผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาเป็นพยานฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอระบุพยานเพิ่มเติมอ้างผู้จัดการเฉพาะกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนนคร จำกัด (มหาชน) มาเป็นพยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น เห็นว่า การทำสัญญาผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สินเชื่อกับจำเลยทั้งสาม ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็ได้นำเจ้าหน้าที่สินเชื่อผู้มีหน้าที่และรู้เห็นในการทำสัญญากับจำเลยทั้งสามมาเบิกความเป็นพยานแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมสามารถซักค้านได้อย่างเต็มที่ ผู้จัดการเฉพาะกิจเงินทุนหลักทรัพย์ธนนคร จำกัด (มหาชน) เพิ่งได้รับแต่งตั้งหลังจากทางราชการได้เข้าควบคุมกิจการของโจทก์ และเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างว่าจำเป็นต้องขอระบุพยานเพิ่มเติมเพราะศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอหมายเรียกผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาเป็นพยานนั้น เห็นว่า ผู้จัดการเฉพาะกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนนคร จำกัด(มหาชน) และผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีอำนาจและบทบาทในแต่ละองค์กรแยกต่างหากจากกัน หน้าที่ของแต่ละคนคงมีอยู่เฉพาะในองค์กรที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น กรณีดังกล่าวย่อมไม่สามารถนำคำเบิกความของแต่ละคนมาทดแทนกันได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ระบุพยานเพิ่มเติมชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน