คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลมีอำนาจพิเคราะห์ว่า กระบวนพิจารณาใดจำเป็นจะต้องกระทำเพียงใดหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากระบวนพิจารณาใดเป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น ศาลย่อมมีอำนาจงดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง คดีนี้จำเลยขอเลื่อนนัดไต่สวนมาหลายนัดแล้ว ประกอบกับการเดินเผชิญสืบอาคารพิพาทก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ทั้งการออกคำสั่งกำหนดเดินเผชิญสืบก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลโดยเฉพาะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 99 วรรคแรก เมื่อศาลชั้นต้นไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำการไต่สวนพยานจำเลยต่อไปโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว การเดินเผชิญสืบตามคำขอของจำเลยก็มีแต่จะทำให้เกิดความล่าช้า ประวิง และยุ่งยาก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องและไม่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบอาคารพิพาท จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 16781, 16782 ตำบลตลาดน้อย (สัมพันธวงศ์) อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร ส่วนหลังอาคารและพื้นชั้นลอยส่วนที่เกินจากแบบที่ได้รับอนุญาต ถ้าจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
ต่อมาศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับและหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึดอาคารพิพาทของจำเลยและจัดการให้โจทก์รื้อถอนอาคารตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยได้ เนื่องจากโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยเกิน 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด และการรื้อถอนอาคารพิพาทเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะกระทำได้ เพราะวิศวกรให้ความเห็นว่า จะทำให้อาคารส่วนที่ถูกต้องตามแบบพังทลายลงมาด้วย เนื่องจากส่วนที่ถูกต้องตามแบบและไม่ถูกต้องตามแบบสร้างขึ้นพร้อมกันโดยมีโครงสร้างร่วมกัน หากอาคารพิพาททั้งหลังต้องพังทลายลงมานอกจากทำให้จำเลยต้องเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็น ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเพื่อนบ้านอีกด้วย ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2532 และออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดรื้อถอนในวันที่ 21 กรกฎาคม 2542 จึงเป็นการบังคับคดีภายใน 10 ปี และการที่จำเลยไม่รื้ออาคารตามคำพิพากษาเป็นการที่จำเลยยังละเมิดต่อโจทก์อยู่ตลอดเวลา
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานจำเลยไปได้ 1 ปาก แล้ววินิจฉัยว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนคำร้อง ส่วนคำขอเดินเผชิญสืบและคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยไม่จำเป็นต้องพิจารณาสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ศาลมีอำนาจที่จะพิเคราะห์ว่า กระบวนพิจารณาใดจำเป็นจะต้องกระทำเพียงใดหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากระบวนพิจารณาใดเป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น ศาลย่อมมีอำนาจงดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง ซึ่งคดีนี้จำเลยได้เลื่อนคดีนัดไต่สวนมาหลายนัดแล้ว ประกอบกับการเดินเผชิญสืบอาคารพิพาทก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ทั้งการออกคำสั่งกำหนดเดินเผชิญสืบก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 วรรคแรก เมื่อศาลชั้นต้นไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำการไต่สวนพยานจำเลยต่อไปโดยเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว การเดินเผชิญสืบตามคำขอของจำเลยก็มีแต่จะทำให้เกิดความชักช้า ประวิง ยุ่งยาก ศาลชั้นต้นก็สั่งงดไต่สวนคำร้องและไม่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบอาคารพิพาทได้ เป็นคำสั่งชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share