คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6094/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 216 และ 225 วางหลักไว้ว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ แต่ฎีกาของจำเลยเพียงบรรยายว่าเหตุผลที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ทั้งหมดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อปลีกย่อยไร้สาระนั้น จำเลยเห็นว่าล้วนแล้วแต่จะเป็นแก่นสาระน่าตั้งเป็นข้อสังเกตถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้ดำเนินการไปอย่างสุจริตโปร่งใสหรือไม่ และมีคำขอในท้ายฎีกาเพียงขอให้ศาลฎีกาให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ฎีกาของจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดขึ้นคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และคืนธนบัตรจำนวน 100 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน คืนธนบัตรจำนวน 100 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 216 และมาตรา 225 วางหลักไว้ว่าฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ แต่ฎีกาของจำเลยเพียงบรรยายว่า เหตุผลที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ทั้งหมดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อปลีกย่อยไร้สาระนั้นจำเลยเห็นว่าล้วนแล้วแต่จะเป็นแก่นสาระน่าตั้งเป็นข้อสังเกตถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้ดำเนินการไปอย่างสุจริตโปร่งใสหรือไม่ และมีคำขอในท้ายฎีกาเพียงขอให้ศาลฎีกาให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ฎีกาของจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดขึ้นคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใดอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายข้างต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share