คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5983/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 28 กำหนดว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น แม้ว่าการเลือกคู่ครองเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกคู่ครองของตนเองได้ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธินั้นได้ การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่พอใจต้องการแยกทางกับจำเลยจึงฟ้องหย่า โดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่โจทก์จะเลือกคู่ครองได้ตามแต่ความพอใจของตนนั้นคงไม่ถูกต้อง เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวของโจทก์ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อจำเลยซึ่งเป็นภริยาและบุตร หากโจทก์ประสงค์จะหย่าขาดจากจำเลยต้องมีเหตุที่อ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 มิฉะนั้น สถาบันครอบครัวในสังคมจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบและมีแต่ความสับสนวุ่นวาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 2 คน ต่อมาโจทก์ไม่อาจทนอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยกับโจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้จำเลยส่งมอบอาวุธปืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ชดใช้ราคาจำนวน 30,000 บาท แทน ให้จำเลยส่งมอบใบอนุญาตใช้อาวุธปืนรวม 2 ฉบับ หากไม่สามารถส่งมอบได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกไป ป.4 ทั้งสองใบ เพื่อที่โจทก์จะดำเนินการขอใบอนุญาตใบ ป.4 ต่อทางราชการใหม่แทน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกคู่ครองของตนเองได้ ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ หากโจทก์เห็นว่า หญิงนั้นไม่เหมาะสมกับตน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลิกร้างกับหญิงดังกล่าวได้ การที่โจทก์มีข้อโต้แย้งกับจำเลยในเรื่องการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกับจำเลยและเลือกใช้วิธีการทางกฎหมายโดยการฟ้องหย่า ย่อมเป็นการแก้ปัญหาให้แก่ครอบครัวและสังคมโดยสันติ เพื่อมิให้เกิดปัญหารุนแรงถึงฆ่ากันตายดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับลูก ๆ ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเหมือนเป็นการไม่แก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นการก่อปัญหาให้เกิดขึ้นกับครอบครัวของโจทก์มากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงจิตใจของโจทก์ที่จะได้รับทุกข์ทรมานจากการกระทำของจำเลยนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 28 กำหนดว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น แม้ว่าการเลือกคู่ครองตามที่โจทก์ฎีกาจะเป็นสิทธิของโจทก์ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธินั้นได้ การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่พอใจ ต้องการแยกทางกับจำเลยจึงฟ้องหย่าโดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่โจทก์จะเลือกคู่ครองได้ตามแต่ความพอใจของตนนั้นคงไม่ถูกต้อง เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวของโจทก์ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อจำเลยซึ่งเป็นภริยาและบุตรทั้งสอง ดังนี้ หากโจทก์ประสงค์จะหย่าขาดจากจำเลยจะต้องมีเหตุหย่าที่อ้างได้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 บัญญัติไว้ซึ่งการใช้สิทธิหย่าของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมิฉะนั้นสถาบันครอบครัวในสังคมจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบและมีแต่ความสับสนวุ่นวายได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้หรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าจะมีเหตุให้หย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 หรือไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share