คำวินิจฉัยที่ 124/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเอกชนว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่าจ้าง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ก่อสร้างตามโครงการผันน้ำ (แบบกาลักน้ำ) ด้วยการบุกรุกเข้าไปปรับถม ขุดเจาะที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนและวางท่อพีวีซีตัดผ่านที่ดิน น.ส. ๓ ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท ห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทออกทับที่สาธารณประโยชน์ป่าชุมชนของหมู่บ้าน จำเลยที่ ๑ ดำเนินโครงการผันน้ำผ่านทุ่งโป่งและส่งมายังเทศบาล จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาก่อสร้างเพื่อส่งน้ำให้ประชาชนใช้เพาะปลูกในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ มิได้บุกรุกที่ดินหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีมีประเด็นพิพาทโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๔/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว)
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ นางสาวนันยดา สุธรรมแปง โจทก์ ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลปัว ที่ ๑ นายพลายชุมพล อยู่เอนก ที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. นครปัวก่อสร้าง ที่ ๓ นายศรีวัน อินต๊ะกัน ที่ ๔ นายบรรจง รัตนประภา ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๐/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๔๘๑ ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๙๖ ตารางวา เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะผู้รับจ้าง และจำเลยที่ ๕ ผู้เสนอโครงการก่อสร้างผันน้ำอ่างห้วยป่าตอง (แบบกาลักน้ำ) บ้านป่าหัด หมู่ที่ ๒ ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ร่วมกันบุกรุกเข้าไปปรับถมดิน ขุดเจาะที่ดินเพื่อสร้างถนน วางท่อ ดาดลำเหมืองตัดผ่านที่ดินของโจทก์ โดยก่อสร้างถนนความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๑๒ เมตร เจาะดาดลำเหมืองปากกว้าง ๐.๗ เมตร ยาว ๓๑ เมตร และวางท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔ นิ้ว จำนวน ๔ ท่อ ยาว ๘๑ เมตร ตัดผ่านที่ดินของโจทก์ จากทิศเหนือไปทิศใต้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์ได้แจ้งจำเลยทั้งห้ายุติการดำเนินการ และรื้อถอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยและจงใจกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทปรับที่ดินให้คงสภาพเดิม ห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องและทำประโยชน์และให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท น.ส. ๓ เลขที่ ๔๘๑ ออกทับที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าชุมชนของหมู่บ้านป่าหัด จำเลยที่ ๑ ดำเนินโครงการผันน้ำจากห้วยป่าตอง (แบบกาลักน้ำ) ผ่านทุ่งโป่งและส่งมายังเทศบาลตำบลปัวเพื่อส่งน้ำให้ประชาชนใช้เพาะปลูกในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ จำเลยทั้งสามมิได้บุกรุกที่ดินหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาก่อสร้าง มิได้บุกรุกที่ดินหรือกระทำละเมิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๔๘๑ ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีจึงมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ค่าเสียหายมีเพียงใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ เป็นนายกเทศมนตรี จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ใหญ่บ้าน จำเลยที่ ๒ และที่ ๕ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำ ตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ และมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ ทางระบายน้ำ การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่น ตามมาตรา ๑๖ (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้ง จำเลยที่ ๑ ยังมีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนั้นการก่อสร้างถนน เจาะดาดลำเหมือง และวางท่อพีวีซีตามโครงการก่อสร้างผันน้ำอ่างห้วยป่าตอง (แบบกาลักน้ำ) ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ กระทำการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๒ ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
นอกจากนี้ หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่ผู้ทรงสิทธิหรือผู้ทรงสิทธิครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงแต่มีกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ทางปกครองดำเนินการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางน้ำและทางระบายน้ำ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องอาศัยและใช้อำนาจเหนือเอกชน เมื่อโจทก์อ้างว่า การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นั้น แม้ว่าจะมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ กระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จะพิจารณาพิพากษาการกระทำของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในศาลเดียวกัน คือศาลปกครอง จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีนี้ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วยเช่นกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเอกชนว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่าจ้าง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ก่อสร้างผันน้ำอ่างห้วยป่าตอง (แบบกาลักน้ำ) โดยบุกรุกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๔๘๑ ของโจทก์ด้วยการเข้าไปปรับถมดิน ขุดเจาะที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนและวางท่อพีวีซีตัดผ่านโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท ห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ที่พิพาทออกทับที่สาธารณประโยชน์ป่าชุมชนของหมู่บ้านป่าหัด จำเลยที่ ๑ ดำเนินโครงการผันน้ำจากห้วยป่าตอง (แบบกาลักน้ำ) ผ่านทุ่งโป่งและส่งมายังเทศบาลตำบลปัว จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาก่อสร้างเพื่อส่งน้ำให้ประชาชนใช้เพาะปลูกในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ มิได้บุกรุกที่ดินหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีมีประเด็นพิพาทโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวนันยดา สุธรรมแปง โจทก์ เทศบาลตำบลปัว ที่ ๑ นายพลายชุมพล อยู่เอนก ที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. นครปัวก่อสร้าง ที่ ๓ นายศรีวัน อินต๊ะกัน ที่ ๔ นายบรรจง รัตนประภา ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share