คำวินิจฉัยที่ 125/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เข้าครอบครองที่ดินมือเปล่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ทำการรังวัดปักหลักแนวเขตที่ดินและเตรียมออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนประกาศการรังวัดที่พิพาท พร้อมทั้งห้ามมิให้จำเลยทั้งสามและบริวารเข้ารบกวนสิทธิการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๕/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว)
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ นางวัชรีย์ สิริภูชัย โจทก์ ยื่นฟ้อง นายอำเภอเชียงกลาง ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาเชียงกลาง ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงกลางพญาแก้ว ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๙/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ครอบครองที่ดินต่อจากบิดาซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ ๒ – ๓ – ๙๘ ไร่ ตั้งอยู่บ้านพญาแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน โดยทำการปลูกข้าว ข้าวโพด และลำไย ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๒ นำนายช่างรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาเชียงกลาง เข้าทำการรังวัดปักหลักแนวเขตที่ดินและเตรียมออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงศาลเจ้าพ่อพญาแก้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนประกาศการรังวัดที่พิพาท ให้จำเลยทั้งสามออกจากที่พิพาท และให้โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยไม่ให้จำเลยทั้งสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวหรือขัดขวางหรือรบกวนสิทธิการครอบครองที่ดินที่พิพาทของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า กรมที่ดินแจ้งผ่านจำเลยที่ ๒ เพื่อทำการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงศาลเจ้าพ่อพญาแก้ว เนื้อที่ ๔ ไร่ ซึ่งโจทก์ครอบครองที่ดินต่อจากบิดาโดยไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครอง ที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อพญาแก้ว ที่ประชาชนสักการะบูชา เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนประกาศรังวัดซึ่งชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสามมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่บ้านพญาแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง เมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน มิได้รังวัดรุกล้ำหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีจึงมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำฟ้องและคำขอของโจทก์ โจทก์ประสงค์จะฟ้องโต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีหน้าที่ร่วมกันในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโต้แย้งการกระทำของจำเลยทั้งสามในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงว่ารุกล้ำที่ดินโจทก์ อันเป็นขั้นตอนของการพิจารณาทางปกครอง โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนประกาศการรังวัดเพื่อปักหลักเขตที่ดินและประกาศการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวและให้จำเลยทั้งสามพร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และให้โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นผู้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ทำการรังวัดปักหลักแนวเขตที่ดินและเตรียมออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงศาลเจ้าพ่อพญาแก้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนประกาศการรังวัดที่พิพาท พร้อมทั้งห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสามและบริวารเข้ารบกวนสิทธิการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า กรมที่ดินแจ้งผ่านจำเลยที่ ๒ เพื่อทำการรังวัดออก น.ส.ล. ที่พิพาท ซึ่งโจทก์ไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อพญาแก้วที่ประชาชนสักการะบูชาเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนประกาศรังวัดซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางวัชรีย์ สิริภูชัย โจทก์ นายอำเภอเชียงกลาง ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาเชียงกลาง ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงกลางพญาแก้ว ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share