แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขนส่งสินค้าตามฟ้องผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังเกาะสีชัง จำเลยที่ 1 รับขนส่งโดยทำสัญญาเช่าเรือเพื่อการขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งระบุว่าต้องใช้ประกอบกับสัญญาเช่าเรือ และตามสัญญาเช่าเรือระบุข้อตกลงในส่วนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการขนถ่ายสินค้าในเทอม FIOST ซึ่งผู้เช่ามีภาระการออกค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าออกจากเรือของจำเลยที่ 1 ที่ท่าปลายทางด้วย และตามใบกำกับสินค้าระบุราคา CFR ตาม Incoterms 2000 และเทอม FO หมายความว่า ผู้ซื้อมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าจากเรือเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการจัดหาหรือว่าจ้างผู้ขนถ่ายสินค้า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้าจนถึงเกาะสีชังเท่านั้น จากนั้นผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งเป็นผู้ว่าจ้างผู้ขนถ่ายสินค้าขนถ่ายลงเรือลำเลียงต่อไป เมื่อความสูญหายของสินค้าเกิดจากผู้ขนถ่ายสินค้าที่ผู้ซื้อจ้างมาทำสินค้าตกลงทะเลสูญหายไปขณะใช้เครนขนถ่ายสินค้า จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด และเมื่อเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานของเครนลอยน้ำโดยผู้บังคับควบคุมไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวน 620,425.29 บาท กับชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน593,363.05 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 7,073.50 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์โดยให้แปลงเป็นเงินไทย คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ต้นเงินต้องไม่เกิน 593,363.05 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2550) ต้องไม่เกิน 27,062.24 บาท กับให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี และกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งสินค้าตามฟ้องนี้ผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าทางทะเลจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังเกาะสีชังตามใบกำกับสินค้าเลขที่ NSP-146-I และจำเลยที่ 1 รับขนส่งโดยการทำสัญญาเช่าเรือเพื่อการขนส่งเที่ยวนี้ และออกใบตราส่ง ซึ่งระบุว่าต้องใช้ประกอบกับสัญญาเช่าเรือ และได้ความว่าตามสัญญาเช่าเรือนั้น ระบุข้อตกลงในส่วนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการขนถ่ายสินค้าในเทอม FIOST ซึ่งผู้เช่ามีภาระการออกค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าออกจากเรือของจำเลยที่ 1 ที่ท่าปลายทางด้วย อย่างไรก็ตามตามใบกำกับสินค้าดังกล่าวระบุราคา CFR ตาม Incoterms 2000 และเทอม FO ซึ่งผู้สำรวจความเสียหายได้นำมาระบุไว้ในรายงานสำรวจความเสียหายแสดงความหมายว่า ผู้ซื้อมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าจากเรือเอง นอกจากนี้นายวิชัย ผู้จัดการฝ่ายนำเข้าของบริษัทสหวิริยาเพลทมิล จำกัด ผู้เอาประกันภัยก็มาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 ว่า บริษัทสหวิริยาเพลทมิล จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าตามฟ้องจากเรือบาวชานมาลงเรือโป๊ะ แต่นายวิชัยก็ยังเบิกความอีกว่า ตามสัญญาซื้อขายสินค้าครั้งนี้มีเงื่อนไขว่าผู้ขายมีหน้าที่จัดส่งสินค้าทางเรือมาจนถึงเกาะสีชัง และการขนถ่ายสินค้าโดยใช้เครนลอยน้ำนั้นผู้ขายได้ติดต่อบริษัทเรนโบว์ มารีนไทม์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดหาเครนลอยน้ำ คนควบคุมเครนลอยน้ำไม่ใช่คนงานของจำเลยที่ 3 แต่เป็นคนงานของบริษัทโชควารี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยคนงานของจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้นำโซ่ไปผูกแผ่นเหล็กเพื่อให้เครนยกสินค้าแผ่นเหล็กออกจากเรือบาวชาน ทั้งนายณรงค์ ภักดีนอก พยานโจทก์ก็เบิกความด้วยว่า ผู้เอาประกันภัยได้จ่ายค่าจ้างสำหรับเครนลอยน้ำชื่อ ทองทะเลอินเตอร์ แล้ว จากพยานหลักฐานดังกล่าวที่สอดรับกันมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า ผู้ขายสินค้าให้แก่บริษัทสหวิริยาเพลทมิล จำกัด ผู้เอาประกันภัยช่วยจัดหาเครนยกขนถ่ายสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าวและบริษัทนี้จะจ่ายค่าจ้างขนถ่ายให้แก่เจ้าของเครนลอยน้ำตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายที่ระบุในใบกำกับสินค้าดังกล่าวข้างต้นว่า FO หรือผู้ซื้อมีภาระในการออกค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าปลายทาง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการจัดหาหรือว่าจ้างผู้ขนถ่ายสินค้าแต่อย่างใด ส่วนที่นายพิรัตน์ วงศ์สายสุวรรณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในฐานะพยานโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนถ่ายสินค้า ก็เป็นข้อมูลที่ได้อ่านจากรายงานการสำรวจความเสียหาย เท่านั้น ซึ่งนายณรงค์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานบริษัทแอสโซซิเอทส์ มารีน เซอร์เวเยอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สำรวจความเสียหายในเหตุครั้งนี้ก็เบิกความว่า ตามที่พยานได้ระบุในรายงานการสำรวจความเสียหายว่า จำเลยที่ 1 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนและส่งให้บริษัทเรนโบว์ มารีนไทม์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดหาเครนลอยน้ำมาขนถ่ายสินค้า และบริษัทเรนโบว์ มารีนไทม์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินการจัดหาเครนลอยน้ำชื่อ ทองทะเลอินเตอร์ มาขนถ่ายสินค้านั้นเป็นข้อมูลที่พยานได้รับจากผู้เอาประกันภัย แต่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถส่งมอบรายละเอียดและหลักฐานต่าง ๆ ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงเลื่อนลอย ขัดต่อเหตุผลและพยานเอกสารดังกล่าวมาข้างต้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งเป็นผู้ว่าจ้างผู้ขนถ่ายสินค้า ออกจากเรือบาวชานของจำเลยที่ 1 ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ขนส่งสินค้ามาจนถึงเกาะสีชังเท่านั้น จากนั้นบริษัทสหวิริยาเพลทมิล จำกัด ในฐานะผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งเป็นผู้ว่าจ้างผู้ขนถ่ายสินค้ามาใช้เครนลอยน้ำยกสินค้าออกจากเรือของจำเลยที่ 1 เพื่อขนถ่ายลงเรือลำเลียงต่อไป ดังนั้นเมื่อความสูญหายของสินค้าเกิดจากผู้ขนถ่ายสินค้าที่ผู้ซื้อจ้างมาเป็นผู้ทำสินค้าตกลงทะเลสูญหายไปในขณะใช้เครนยกขนถ่ายสินค้า จึงไม่ใช่หน้าที่และความผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาหรือไม่ ปัญหานี้ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างถึงเหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ใช้เครนลอยน้ำยกขนถ่ายสินค้า และปรากฏว่าขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 บังคับเครนยกสินค้าจากระวางเรือนั้นสินค้าแกว่งไปถูกฝาระวางเรือบาวชาน แล้วหลุดออกเซหล่นไปกระทบพื้นเครนทะลุตกลงไปในทะเล 1 ชิ้น ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายพิรัตน์พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และคำเบิกความของนายวิชัย พยานจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายนำเข้าบริษัทสหวิริยาเพลทมิล จำกัด ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งและผู้เอาประกันภัยกับโจทก์ตรงกันว่า บริษัทดังกล่าวว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ทำการขนถ่ายสินค้าโดยทำหน้าที่จัดหาคนงานเครื่องผูกมัดลวดสลิงและโซ่สำหรับขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือลำเลียงแต่ก็ยังได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 3 ตรงกันอีกว่าบริษัทเรนโบว์
มารีนไทม์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดหาเครนลอยน้ำมาใช้ทำการยกสินค้าขนถ่ายออกจากเรือบาวชาน และบริษัทดังกล่าวจัดหาเครนลอยน้ำชื่อ ทองทะเลอินเตอร์ มาใช้ขนถ่ายสินค้านี้ โดยเครนลอยน้ำนี้เป็นของบริษัทโชควารี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดและลูกจ้างของบริษัทเจ้าของเครนลอยน้ำนี้เป็นผู้บังคับควบคุมเครนลอยน้ำนี้ ขณะที่ผู้บังคับควบคุมเครนลอยน้ำกำลังยกสินค้า 1 ชิ้น จากระวางเรือบาวชานสินค้าแกว่งไปกระแทกถูกฝาระวางเรือ แล้วหลุดออกจากโซ่ลงกระแทกกราบเรือแล้วหล่นลงไปที่ดาดฟ้าเครนลอยน้ำจนทะลุทำให้สินค้าชิ้นนี้หล่นลงทะเลไป โดยสรุปสาเหตุแห่งความสูญหายของสินค้านี้ได้ว่า เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ปฏิบัติงานของเครนลอยน้ำ รายละเอียดปรากฏตามรายงานการสำรวจความเสียหาย โดยผู้บังคับควบคุมเครนดังกล่าวไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ดังนี้จึงย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำละเมิดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทสหวิริยาเพลทมิล จำกัด ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทดังกล่าวและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยตามฟ้องที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระค่าเสียหายต่อโจทก์ในมูลละเมิดนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 รวมทั้งอุทธรณ์ของโจทก์อีกข้อหนึ่งที่ต่างอุทธรณ์ในเรื่องจำนวนค่าเสียหายอีกต่อไป เพราะไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 7,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์นี้ให้เป็นพับ