แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาเป็นผลของการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 83 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอัศฐาพร ผู้เสียหาย ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกับพวกให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกับพวกปลอมเอกสารสิทธิจำคุก 1 ปี รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ความผิดฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 นายกุศล กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงิน 40,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6 ต่อเดือน และโจทก์ร่วมมอบบัตรเอ.ที.เอ็ม. ให้ไว้ นายกุศลได้ใช้บัตรเอ.ที.เอ็ม. ของโจทก์ร่วมถอนเงินจากธนาคารชำระเป็นค่าดอกเบี้ยตลอดมาจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2546 เห็นว่า พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 (ก) บัญญัติว่า “บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ท่านว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา….” ดังนี้ ความผิดฐานให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดสาระสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกหรือคิดเอาดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่นายกุศลพวกของจำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอ.ที.เอ็ม. ของโจทก์ร่วมถอนเงินจากธนาคารชำระเป็นค่าดอกเบี้ยตลอดมาจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2546 เป็นเพียงผลของการที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยที่ 1 กับพวกยังคงเรียกเก็บเงินค่าดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดจากโจทก์ร่วมแต่อย่างใด และความผิดฐานนี้มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์