คำวินิจฉัยที่ 127/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนด และที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งอยู่ติดกัน ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินเข้าสอบเขตที่ดินดังกล่าว แต่ถูกจำเลยกับพวกคัดค้าน อ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าดงเค็งที่ใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสามให้การว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท แต่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติการตามระเบียบและอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว มิได้ร่วมกันกระทำละเมิดแก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาท โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๗/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายพงศ์ศิลป์ นิลสระคู ที่ ๑ นางพรทิพย์ นิลสระคู ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลชานุวรรณ ที่ ๑ นายกัมพล เกาะกิ่ง ที่ ๒ นายไพรสาร เบื้องบน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๓๖/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๗๗๕ ตำบลชานุวรรณ (กุดน้ำใส) อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๘๗ ตารางวา และที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งอยู่ติดกันทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดดังกล่าว เนื้อที่ ๕ ไร่ อันเป็นที่ดินพิพาท โดยซื้อมาจากเจ้าของเดิมที่ครอบครองโดยสงบเปิดเผยติดต่อกันจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี ก่อนซื้อที่ดินดังกล่าว โจทก์ตรวจสอบตำแหน่งพิกัดของที่ดินแล้วว่าไม่ได้อยู่ในเขตอันเป็นสาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๑ เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น จำเลยที่ ๒ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลชานุวรรณ มีหน้าที่กระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๗ ต่อมาโจทก์ทั้งสองนำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด สาขาพนมไพร เข้าสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองพบว่า เขตโฉนดไม่ครอบคลุมเนื้อที่ดินบริเวณที่ใช้ทำประโยชน์ทั้งหมด ยังคงมีที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่อยู่นอกโฉนดและไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็นที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ จำเลยที่ ๓ กับพวกกล่าวอ้างลอยๆ ว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าดงเค็งที่ใช้ร่วมกันและเข้าขัดขวางในขณะที่เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัด จากนั้นรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังจำเลยที่ ๒ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๒ มีความเห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าดงเค็ง และออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการตรวจสอบหลักฐานให้ทราบข้อเท็จจริงเสียก่อน แต่กลับออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ทำให้ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทจำนวน ๕ ไร่ ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๗๗๕ เป็นของโจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งขับไล่ ห้ามจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และราษฎรในตำบลชานุวรรณเข้ามารบกวนสิทธิในที่ดินพิพาทกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองมิใช่เจ้าของ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าดงเค็ง อันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๗๗๗๕ การที่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนรั้วและต้นยางพาราออกจากที่พิพาท และจำเลยที่ ๓ ไประวังแนวเขตในส่วนที่ดินพิพาทในวันที่โจทก์ทั้งสองนำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติการตามระเบียบและอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งสามมิได้ร่วมกันกระทำละเมิดแก่โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ป่าดงเค็งที่ใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ทำการแทนจำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ใช้อำนาจทางปกครอง ตามกฎหมายในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันกับนายอำเภอท้องที่ หากปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ไประวังชี้และร่วมลงชื่อรับรองแนวเขตในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๗๗๗๕ การคัดค้านของจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้แทนของนายอำเภอเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของจำเลยทั้งสาม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่การจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาท อยู่ในเขตที่สาธารณประโยชน์”ป่าดงเค็ง”หรือไม่ หากจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนจะเสียเปรียบที่ไม่อาจทราบหรือเข้าถึงข้อมูลเอกสารหลักฐานของทางราชการได้ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบไต่สวนเพราะคดีนี้โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ได้ครอบครองต่อเนื่องจากเจ้าของที่ดินเดิมที่ครอบครองทำประโยชน์มากกว่าสิบปี แต่จำเลยทั้งสาม ได้โต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองบุกรุกที่ดินพิพาทหลังจากที่มีการรับโอนกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๗๗๗๕ แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดและอย่างรอบด้านที่สุด โดยไม่ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาลตามที่กำหนดในภาค ๑ ลักษณะ ๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือหากในระหว่างการพิจารณาคดีคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันหรือโจทก์อาจถอนฟ้องเนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันโดยมิได้มีการพิสูจน์ถึงสถานะที่แท้จริงของที่ดินพิพาทนี้ อาจทำให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องเสียสิทธิในการใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงสมควรได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลยตามคำฟ้องอ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดิน โฉนดเลขที่ ๓๗๗๗๕ และที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งอยู่ติดกันทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดดังกล่าว เนื้อที่ ๕ ไร่ ต่อมาโจทก์ทั้งสองนำเจ้าพนักงานที่ดินเข้าสอบเขตที่ดินดังกล่าว แต่ถูกจำเลยที่ ๓ กับพวกขัดขวาง อ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าดงเค็งที่ใช้ร่วมกันและแจ้งไปยังจำเลยที่ ๒ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๒ มีความเห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ป่าดงเค็งและออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาท จำนวน ๕ ไร่ ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๗๗๕ เป็นของโจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่ดินเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติการตามระเบียบและอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งสามมิได้ร่วมกันกระทำละเมิดแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายพงศ์ศิลป์ นิลสระคู ที่ ๑ นางพรทิพย์ นิลสระคู ที่ ๒ โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลชานุวรรณ ที่ ๑ นายกัมพล เกาะกิ่ง ที่ ๒ นายไพรสาร เบื้องบน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share