แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนี้ค่าอากรขาเข้าและเงินเพิ่มเป็นหนี้ที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐเรียกเก็บจากเอกชนผู้ทำธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง ส่วนหนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากผู้นำเข้าไม่ชำระค่าอากรภายในเวลาที่กำหนดกับให้เรียกเก็บนับแต่วันที่ส่งมอบตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง ดังนั้นหนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย เมื่อจำเลยชำระหนี้ไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกราย หนี้ค่าอากรเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ย่อมได้เปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 138,808.89 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของอากรที่ค้างชำระจำนวน 87,853.73 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 87,853.73 บาท แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยนำสินค้าซึ่งมีแหล่งกำเนิดและต้นทางจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือ และได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มสำแดงว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดจึงแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยยินยอมเพิ่มราคาสินค้าตรงตามราคาที่แท้จริงในท้องตลาด และยินยอมเพิ่มค่าอากรตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น จำเลยได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารค้ำประกันการชำระอากรเนื่องจากจำเลยมิได้ชำระอากรขาเข้าให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ตรี ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจำเลยได้ชำระเรียบร้อยแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยมิได้นำสินค้าที่นำเข้ามาไปผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและจำเลยมิได้ยื่นใบสรุปยอดเงินภาษีอากรขาเข้าภายในเดือนที่ 13 นับแต่วันนำของเข้าตามประกาศของโจทก์ จำเลยจึงต้องชำระอากรพร้อมเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าอากรตามที่จำเลยสำแดงไว้มาชำระ และมีหนังสือแจ้งให้ธนาคารผู้ค้ำประกันทราบ ธนาคารผู้ค้ำประกันได้นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จำนวน 465,000 บาท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2540 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักชำระเงินเพิ่มนับแต่วันที่จำเลยรับสินค้าไปคือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 จนถึงวันที่ธนาคารนำเงินมาชำระคือวันที่ 8 กันยายน 2540 จำนวน 166,242.73 บาท คงเหลือเงินที่นำมาหักชำระค่าอากรขาเข้าจำนวน 298,757.27 บาท เมื่อนำมาหักออกจากอากรขาเข้าจำนวน 386,611 บาท แล้วยังคงเหลือเป็นค่าอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระจำนวน 87,853.73 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนี้ค่าอากรและหนี้เงินเพิ่มตามใบขนสินค้าขาเข้าเป็นมูลหนี้รายเดียวกันหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่า เงินเพิ่มเกิดจากค่าอากรที่ค้างชำระ มีสภาพคล้ายดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน เงินเพิ่มจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ค่าอากรที่ค้างชำระซึ่งเป็นหนี้ประธาน ถือได้ว่าเป็นมูลหนี้รายเดียวกันนั้น เห็นว่า การกู้ยืมเงินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงินเป็นหนี้ที่เกิดจากการก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ซึ่งคู่สัญญาอาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือวิธีการชำระหนี้กันไว้อย่างไรก็ได้ หากการตกลงนั้นไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือไม่เป็นการพ้นวิสัย หรือไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนหนี้ค่าอากรขาเข้าและเงินเพิ่มเป็นหนี้ที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐเรียกเก็บจากเอกชนผู้ทำธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือไม่ได้ว่าหนี้สองประเภทดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกัน หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง ในขณะนั้นหนี้เงินเพิ่มยังไม่เกิดขึ้น หนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากผู้นำเข้าไม่ชำระค่าอากรภายในเวลาที่กำหนด กับให้เรียกเก็บนับแต่วันที่ส่งมอบตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง หนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย เมื่อจำเลยชำระหนี้ไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกราย หนี้ค่าอากรเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ย่อมได้เปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางนำเงินประกันไปชำระค่าอากรก่อนชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน