แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญามีข้อความและรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่า ระยะเวลาการเช่าค่าเช่าที่ผู้เช่าตกลงชำระเป็นรายเดือน หน้าที่ของผู้เช่า การสูญหายและเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดสัญญา สิทธิในการยกเลิกสัญญาของผู้ให้เช่า อันเป็นลักษณะของการเช่าทรัพย์ตาม ป.พ.พ. โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และไม่ปรากฏว่าค่าเช่าที่ชำระให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่า แม้ตามสัญญาข้อ 6 จะให้ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่า ก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่าหากประสงค์จะซื้อในอนาคต คู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าให้แก่กันมาตั้งแต่เริ่มแรกดังสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์
การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การมอบอำนาจให้ทนายความบอกเลิกสัญญาก็ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับของไปรษณีย์มาแสดงจึงถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินคันละ 1,148,000 บาท และใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 2,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป กับให้ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์คันละ 30,000 บาทต่อเดือน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์พร้อมโม่ผสมคอนกรีตที่พิพาททั้ง 5 คัน คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนคันละ 700,000 บาท (คันละ 700,000 บาท 5 คัน เป็นเงิน 3,500,000 บาท) และให้ร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์จำนวน 1,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ต่อไปอีกคันละเดือนละ 20,000 บาท (คันละเดือนละ 20,000 บาท รวม 5 คัน รวมเป็นเงินเดือนละ 100,000 บาท) นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนหรือใช้ราคาแทน แต่ไม่เกิน 6 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า หนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์มีหน้าที่ต้องพิสูจน์และอ้างส่งเอกสารเพื่อให้ทราบรายละเอียดในเอกสารว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เมื่อมีการอ้างส่งสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 แต่เอกสารดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานในคดีไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เห็นว่า สัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 มีข้อความและรายละเอียดเช่นสัญญาเช่าทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่า ระยะเวลาการเช่า ค่าเช่าที่ผู้เช่าตกลงจะชำระเป็นรายเดือน หน้าที่ของผู้เช่า การสูญหายและเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดสัญญา สิทธิในการยกเลิกสัญญาของผู้ให้เช่าซึ่งล้วนแต่เป็นลักษณะของการเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ถึงมาตรา 571 โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และไม่ปรากฏว่าค่าเช่าที่ชำระให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่า แม้ตามสัญญาข้อ 6 จะให้ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่าหากผู้เช่าประสงค์จะซื้อในอนาคตเท่านั้น หาใช่ว่าคู่สัญญามีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าให้แก่กันมาตั้งแต่เริ่มแรกดังสัญญาเช่าซื้อไม่ สัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 จึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 หาใช่สัญญาเช่าซื้อไม่ เมื่อปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 และสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อต่อไปมีว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 เป็นการเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ดังวินิจฉัยแล้ว การบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวจึงหาจำต้องทำเป็นหนังสือไม่ ดังนั้น การมอบอำนาจให้ทนายความบอกเลิกสัญญาก็ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับของไปรษณีย์มาแสดง จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว”
พิพากษายืน