คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ร่วมจะมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตั้งหมู่บ้าน แต่โจทก์ร่วมก็เป็นเจ้าของหมู่บ้าน เป็นผู้ครอบครองหมู่บ้านกับเป็นเจ้าของโซ่และกุญแจซึ่งปิดกั้นทางเข้าหมู่บ้านเมื่อมีผู้มาทำลายโซ่และกุญแจเพื่อจะเข้าไปในหมู่บ้าน โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีได้ บ.และจำเลยกระทำความผิดร่วมกัน บ.ถูกแยกฟ้องที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง แต่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิพากษายกฟ้องเพราะพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกัน ก็เป็นดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของแต่ละศาล ศาลในคดีที่จำเลยถูกฟ้องไม่จำต้องถือตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2531 เวลากลางวันจำเลยกับนายบัญชาซึ่งได้แยกไปดำเนินคดีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางร่วมกันใช้เลื่อยตัดโซ่เหล็กและใช้ค้อนทุบกุญแจซึ่งคล้องไว้กับโซ่เหล็กกั้นทางเข้าหมู่บ้านธารน้ำใจของนางสาวนวลนารถส่งเสริมรัตนกุล ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของนางวิลาศ สุขขังจนขาด และบุบเสียหาย ใช้การไม่ได้ คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 250 บาท เหตุเกิดที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358
ระหว่างพิจารณา นางสาวนวลนารถ ส่งเสริมรัตนกุลผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358 ลงโทษจำคุก 1 เดือนและปรับ 2,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ร่วมมีอำนาจร้องทุกข์หรือไม่นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบโดยมีโจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของหมู่บ้านธารน้ำใจ โดยที่ดินที่ตั้งหมู่บ้านมีชื่อนายจำเนียร เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นายจำเนียรกู้เงินโจทก์ร่วมไปเมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว แต่ยังมิได้โอนเปลี่ยนชื่อมาเป็นของโจทก์ร่วมเพราะโจทก์ร่วมตั้งใจจะโอนขายให้คนอื่น โจทก์ร่วมได้จ้างนางวิลาศเป็นผู้เฝ้าดูแลหมู่บ้านนางวิลาศเบิกความว่าเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วม ทำหน้าที่ดูแลหมู่บ้านธารน้ำใจโจทก์ร่วมซื้อกุญแจใหม่สำหรับใส่โซ่ แต่จำเลยไม่มีลูกกุญแจ พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน และจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งในข้อนี้แต่อย่างใด คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองหมู่บ้านธารน้ำใจมีอำนาจปิดกั้นทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคลและเป็นเจ้าของโซ่และกุญแจรายพิพาท ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้
ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่น่าเชื่อและไม่พอฟังลงโทษจำเลย เพราะนางวิลาศเบิกความในศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางที่นายบัญชาถูกฟ้อง แตกต่างกับที่เบิกความในคดีนี้ และนางวิลาศกับเด็กชายปรีชายังเบิกความในคดีนี้แตกต่างกัน ทั้งเบิกความขัดต่อเหตุผลนั้น เห็นว่า ที่ในศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางนางวิลาศเบิกความว่าจำเลยยืนอยู่ซ้ายมือนายบัญชา ชี้มือให้นายบัญชาเลื่อยโซ่ นายบัญชาหันหน้ามาทางบ้านพยาน ส่วนในคดีนี้นางวิลาศเบิกความว่าจำเลยยืนอยู่ขวามือนายบัญชาใช้มือข้างหนึ่งช่วยจับโซ่ขณะที่นายบัญชากำลังเลื่อยมือข้างหนึ่งกางร่มสีน้ำเงิน เด็กชายปรีชาเบิกความว่าขณะเลื่อยโซ่ นายบัญชาและจำเลยหันหน้าไปทางโซ่หันหลังให้พยานและบ้านนั้น เป็นข้อแตกต่างมิใช่สาระสำคัญถึงกับจะไม่เชื่อคำเบิกความของพยานทั้งสองปากนี้ แม้ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจะพิพากษายกฟ้องเพราะการเบิกความแตกต่างดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นเรื่องดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของแต่ละศาล
พิพากษายืน

Share