แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นโจทก์เหมือนกรณีฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย เพื่อชำระสะสางกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายล้มละลาย โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการและศาลต้องสอดส่องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสั่งตามที่เห็นสมควรตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 151 เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ยอมรับเจ้าหนี้ที่เสนอรับจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นที่มาประชุมเสนอรับเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็ตาม แต่มีเจ้าหนี้มาประชุม 96 ราย จากเจ้าหนี้ทั้งหมด 182 ราย คิดเป็นเงินที่ขอรับชำระหนี้จำนวนมาก โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มาประชุมไม่สามารถและเต็มใจที่จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นใหม่เพื่อสรรหาเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ไม่ชอบที่จะขอให้ศาลยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 135 (1)
โดยที่ลูกหนี้มิได้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย แม้มติที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกจะมีมติไม่สมควรขอให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม แต่มติดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ และขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 31 และมาตรา 36 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ดำเนินการตามหน้าที่ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย กลับรายงานศาลขอให้ยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมติดังกล่าว อันมีผลเท่ากับเจ้าหนี้ไม่ลงมติแต่ประการใดตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 61 และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีร้องขอให้บริษัทพี บี แอร์ จำกัด ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือรายงานศาลล้มละลายกลางว่า ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 88 วรรคสอง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 มีบริษัทบี.บี.โฮลดิ้ง จำกัด เสนอขอเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ยอมรับเจ้าหนี้ดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และไม่มีเจ้าหนี้อื่นเสนอขอเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ถือว่าไม่มีเจ้าหนี้ช่วยเหลือทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (1) ตามหนังสือกองบังคับคดีล้มละลาย 3 กรมบังคับคดี ที่ ยธ 0507/590 ลงวันที่ 14 มกราคม 2554
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า เห็นว่า คำสั่งยกเลิกการล้มละลายไม่ใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 24 วรรคสอง แต่ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดจึงให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 26 วรรคสี่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (1) ชอบหรือไม่ เห็นว่า การยกเลิกการล้มละลายตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายตามคำขอของผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อปรากฏเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วยหรือยอมเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายหรือวางเงินประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง และไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถและเต็มใจกระทำการดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนหรือละเลยนั้น สำหรับคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายด้วยเหตุปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1266 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เหมือนกรณีที่ฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย เพื่อชำระสะสางกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายล้มละลาย โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการ และศาลต้องสอดส่องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสั่งตามที่เห็นสมควรได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 151 ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกที่แนบท้ายอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ อันเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 88 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเด็ดขาดแล้ว ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งขึ้น ให้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ซึ่งในวันดังกล่าวมีบริษัทบี.บี. โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 137 เสนอรับที่จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แล้ว แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ยอมรับเจ้าหนี้ดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ด้วยเหตุเจ้าหนี้รายอื่นที่ลงมติไม่ยอมรับเนื่องจากโต้แย้งว่าลูกหนี้มิได้เป็นหนี้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าว โดยมีเจ้าหนี้ลงมติไม่ยอมรับ 45 ราย ยอมรับ 39 ราย และงดออกเสียง 12 ราย รวมเจ้าหนี้ที่มาประชุม 96 ราย จากเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทั้งหมด 182 ราย คิดเป็นเงินที่ขอรับชำระหนี้ 493,777,371.54 บาท แม้ที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันดังกล่าวจะมีมติไม่ยอมรับเจ้าหนี้รายที่ 137 เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นที่มาประชุมเสนอรับเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็ตาม แต่ก็ยังมีเจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่มาร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ที่เหลือดังกล่าวไม่สามารถและเต็มใจที่จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ สมควรที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นใหม่เพื่อสรรหาแต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดให้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต่อไปเนื่องจากลูกหนี้มีกิจการและทรัพย์สินที่จะต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มิได้รายงานศาลขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย โดยที่ลูกหนี้มิได้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแต่อย่างใด แม้ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกจะมีเจ้าหนี้ส่วนมากมีมติไม่สมควรรายงานศาลขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม แต่มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อกฎหมายซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ และขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ทันที ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 31 และมาตรา 36 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มิได้ดำเนินการตามหน้าที่ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยกลับรายงานศาลขอให้ยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมติที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว อันมีผลเท่ากับเจ้าหนี้ไม่ลงมติประการใด ตามมาตรา 61 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่สั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ และมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกที่ไม่สมควรรายงานศาลขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลขอให้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายกับดำเนินการประชุมเจ้าหนี้เพื่อแต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งขึ้นให้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ