คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า 21 วัน แต่ผู้เสียหายเบิกความเพียงว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติโดยมิได้เบิกความให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไร ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหัก จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความของ ป.อ. มาตรา 297 (8) คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 295 แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลยข้อนี้ต้องห้ามตามกฎหมายเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ โดยบรรยายฟ้องมาด้วยว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และได้ความว่าผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
พยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะร่วมกับพวกเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปด้วยหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83
แม้คดีนี้จะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซ้ำกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ในคดีก่อนตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) แต่ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 92 มาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 93, 340, 340 ตรี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม จำคุก 20 ปี จำเลยกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซ้ำภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษคดีก่อนจึงให้เพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 30 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในคำฟ้อง สิบตำรวจตรีมานพ เมฆฉาย ผู้เสียหายถูกคนร้ายจำนวน 6 คน รุมทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.7 และผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า ก่อนคนร้ายจะหลบหนีมีบุคคล 3 คน ในกลุ่มคนร้ายดังกล่าวปล้นทรัพย์เอาอาวุธปืนสั้นจำนวน 1 กระบอก ราคา 20,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่อง ราคา 10,000 บาท กับเงินสดจำนวน 2,200 บาท ของผู้เสียหายไปด้วย และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสโดยใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปที่กลางซอยที่เกิดเหตุเพื่อรอรับนางอรวีณ์ไปดื่มสุราด้วยกันตามนัดหมายไว้ และขณะที่ผู้เสียหายยืนรอนางอรวีณ์อยู่นั้น มีชายคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 3 เมตร ได้จ้องมองผู้เสียหายแล้วเดินผ่านผู้เสียหายไปหาชายอีก 2 คน ซึ่งนั่งอยู่ที่สนามฟุตบอลห่างจากผู้เสียหายประมาณ 70 เมตร ผู้เสียหายจึงเดินไปถามชายทั้งสามคนดังกล่าวว่า “ทำอะไรกัน” ชายทั้งสามคนตอบว่า “หาของอยู่” ผู้เสียหายจึงเดินกลับมาทางเดิม ในขณะที่ผู้เสียหายเดินหันหลังอยู่นั้น มีชายคนหนึ่งทราบภายหลังว่าชื่อนายตึ๋งเข้ามาล็อคคอผู้เสียหายทางด้านหลัง เมื่อผู้เสียหายหันหน้ากลับไป นายตึ๋งใช้อาวุธปืนลูกโม่จี้ที่หน้าอกผู้เสียหาย ในขณะที่ผู้เสียหายแย่งอาวุธปืนกับนายตึ๋ง ผู้เสียหายล้วงเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายออกมา นายชัยเข้ามาแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายไป ชายอีกคนหนึ่งชื่อนายเอวิ่งเข้ามาทางด้านหลังผู้เสียหายพร้อมกับกระชากคอเสื้อผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายล้มลง ผู้เสียหายได้ยินชายทั้งสามคนดังกล่าวเรียกพวกเข้ามาอีก 3 คน ซึ่งผู้เสียหายทราบในภายหลังว่าชื่อนายออมจำเลยคดีนี้ กับนายติและนายเอิญ จำเลยกับพวกดังกล่าวได้รุมเตะต่อยผู้เสียหาย แล้วนายชัยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป นายตึ๋งเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไป ส่วนนายติเอากระเป๋าสะพายซึ่งมีเงินสดบรรจุอยู่จำนวน 2,200 บาท ของผู้เสียหายไป โดยโจทก์มีนางอรวีณ์หรืออ้อ นัยสำราญ เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานกับน้องสาวคือนางสาวอรพินท์ แก้วน้อย ออกจากบ้านในซอยที่เกิดเหตุ จะไปพบผู้เสียหายที่ปากซอยที่เกิดเหตุตามที่นัดหมายกันไว้ เมื่อพยานกับนางสาวอรพินท์เดินมาถึงกลางซอยที่เกิดเหตุ พบผู้เสียหายนอนอยู่บนพื้นและมีวัยรุ่น 5 ถึง 6 คน กำลังรุมกระทืบผู้เสียหาย วัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวมีนายตึ๋ง นายชัย นายเอิญ นายออมจำเลยกับนายสันติและอีกคนหนึ่งซึ่งพยานจำชื่อไม่ได้โดยพยานเห็นนายตึ๋งถืออาวุธปืนของผู้เสียหายอยู่ในมือด้วย พยานจึงพูดว่า “อย่าทำพี่มานพ” นายตึ๋งจ้องอาวุธปืนมาที่หน้าผากของพยานในระยะห่างประมาณ 1 คืบ และพูดว่า “มึงไปเลยนะ ไปเลย” พยานจึงวิ่งออกไปโทรศัพท์ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าปากซอยที่เกิดเหตุเพื่อแจ้งเหตุแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ส่วนนางสาวอรพินท์ยังอยู่กับผู้เสียหาย หลังจากโทรศัพท์เสร็จพยานวิ่งกลับมาหาผู้เสียหาย ปรากฏว่ากลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวหลบหนีไปหมดแล้ว พยานจึงวิ่งออกไปที่ปากซอยที่เกิดเหตุเรียกรถยนต์แท็กซี่มารับผู้เสียหายไปส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาวอรพินท์แก้วน้อย เป็นประจักษ์พยานเบิกความอีกว่า ขณะเกิดเหตุพยานเห็นคนร้ายจำนวน 6 คน รุมกระทืบผู้เสียหายซึ่งหมอบอยู่กับพื้นโดยคนร้ายดังกล่าวมีนายตึ๋ง นายชัย นายเอ นายเอิญ นายติ และนายออมจำเลยคดีนี้ เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามต่างก็เบิกความยืนยันตรงกันว่า กลุ่มคนร้ายที่รุมทำร้ายผู้เสียหายมีจำเลยรวมอยู่ด้วย และได้ความจากคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าสาธารณะ แม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่าหลอดไฟฟ้าสาธารณะดังกล่าวเป็นหลอดกลม นางอรวีณ์เบิกความว่า เป็นหลอดนีออนส่วนนางสาวอรพินท์เบิกความว่า เป็นหลอดไฟนีออนสว่างจะเป็นหลอดสั้นหรือหลอดยาวพยานไม่ได้สังเกตก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญของเรื่องแสงไปตามที่จำเลยฎีกาและจากร่องรอยบาดแผลของงผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณใบหน้าก็เป็นเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่าคนร้ายน่าจะมองเห็นผู้เสียหายได้ถนัด จึงน่าเชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุจะต้องมีแสงไฟฟ้าจากหลอดไฟสาธารณะส่องสว่างมองเห็นกันได้ชัดเจนในระยะใกล้ซึ่งคนที่รู้จักกันหรือเคยเห็นกันมาก่อนจะสามารถจดจำกันได้จริง ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายเคยเห็นหน้าชายคนร้ายทั้งหกคนมาก่อนโดยเห็นชายคนร้ายดังกล่าวนั่งดื่มสุราและผู้เสียหายเข้าไปตักเตือนเนื่องจากก่อความรำคาญ ในชั้นชี้ตัวผู้ต้องหาก็ปรากฏว่าผู้เสียหายสามารถชี้ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายได้ถูกต้อง ตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.1 ส่วนนางสาวอรพินท์ก็เบิกความว่า พยายเคยรู้จักกลุ่มคน 5 คน รวมทั้งจำเลยซึ่งอยู่ในซอยหมู่บ้านเดียวกัน สำหรับนางอรวีณ์ แม้จะมิได้เบิกความโดยชัดแจ้งว่าพยานรู้จักจำเลยกับพวกมาก่อน แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าจำเลยกับพวกเป็นคนที่อาศัยอยู่ในซอยที่เกิดเหตุ ซึ่งนายอรวีณ์รู้จักและนางอรวีณ์ก็สามารถเบิกความระบุชื่อจำเลยได้ถูกต้อง ประกอบกับได้ความตามทางพิจารณาว่าจำเลยพักอาศัยอยู่ในชุมชนยายวันในตำบลที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับนางอรวีณ์และนางสาวอรพินท์จริง ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธว่านางอรวีณ์และนางสาวอรพินท์ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนจึงน่าเชื่อว่านางอรวีณ์เคยเห็นจำเลยมาก่อนเช่นเดียวกับนางอรพินท์ ที่ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความว่า จำคนร้ายกลุ่มดังกล่าวได้ว่ามีจำเลยรวมอยู่ด้วยจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกบวร สุภิสิงห์ ผู้จับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความประกอบอีกว่า คืนเกิดเหตุเวลา 0.30 นาฬิกา พยานได้รับแจ้งเหตุจากศูนย์วิทยุสุขสวัสดิ์ว่ามีเหตุปล้นทรัพย์ในซอยที่เกิดเหตุ พยานจึงเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์คือ นางอรวีณ์และนางสาวอรพินท์ บุคคลทั้งสองแจ้งว่าผู้ที่ถูกทำร้ายชื่อสิบตำรวจตรีมานพ เมฆฉาย ซึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาลแล้ว จากการสืบสวนพยานทราบว่ากลุ่มคนร้ายมีนายสินชัย (ที่ถูกศิลปชัย) หรือออม พันธ์โพธิ์ จำเลยรวมอยู่ด้วย ต่อมาวันเดียวกันนี้เวลา 19 นาฬิกา พยานสืบทราบว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 46/15 ชุมชนยายวัน แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร จึงไปเชิญตัวจำเลยมาที่สถานีตำรวจนครบาลบางมดเพื่อให้พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ดูตัว ปรากฏว่านางอรวีณ์และนางสาวอรพินท์ชี้ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายรายนี้ เพราะจำได้เนื่องจากอยู่ในชุมชนยายวันด้วยกัน พยานจึงจับกุมจำเลยดำเนินคดีตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้โดยบันทึกการจับกุมฉบับดังกล่าว ปรากฏว่านางอรวีณ์และนางสาวอรพินท์ได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ชี้ให้จับกุมจำเลยไว้เป็นหลักฐานด้วย อันเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่า นางอรวีณ์และนางสาวอรพินท์จดจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมทำร้ายผู้เสียหายจริง และได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจมาแต่ต้นว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมทำร้ายผู้เสียหาย การที่ร้อยตำรวจเอกบวรเชิญตัวจำเลยมาให้ประจักษ์พยานโจทก์ดูตัวก่อนจับกุมอย่างเป็นทางการนั้นหาเป็นข้อพิรุธที่แสดงว่าประจักษ์พยานโจทก์ไม่แน่ใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายดังที่จำเลยฎีกาไม่ แม้จะปรากฏว่าพนักงานสอบสวนเพิ่งจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2544 อันเป็นเวลาภายหลังจากจับกุมจำเลยแล้ว 11 วัน ก็ไม่ใช่ข้อที่จำเลยจะนำมาอ้างเป็นข้อพิรุธของพยานโจทก์ดังที่จำเลยฎีกาได้ เพราะความล่าช้าดังกล่าวอาจสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวผู้ต้องหาในวันที่จับกุมจำเลยก็ได้ ที่จำเลยอ้างว่าการชี้ตัวผู้ต้องหาของนางสาวอรพินท์ตามบันทึกผลการชี้ตัวผู้ต้องหาและภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.3 มีข้อพิรุธ ไม่ถูกต้องโดยจำเลยอ้างเหตุผลต่างๆ ดังที่จำเลยกล่าวมาในฎีกาโดยละเอียดนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่านางสาวอรพินท์รู้จักจำเลยมาก่อน นางสาวอรพินท์ย่อมจดจำจำเลยได้ ไม่จำต้องอาศัยบันทึกผลการชี้ตัวผู้ต้องหาและภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อนี้อีก ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่าในการชี้ตัวผู้ต้องหาของผู้เสียหายตามบันทึกผลการชี้ตัวผู้ต้องหาและภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.1 ไม่น่าเชื่อถือเพราะในจำนวนผู้ถูกชี้ตัวทั้งหกคนมีจำเลยเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เจ้าพนักงานตำรวจจัดให้มีการสวมเสื้อทับไว้ในกางเกงให้เป็นที่สังเกตุ ผิดไปจากบุคคลอื่นอีก 5 คน เพียงแต่มีเจ้าพนักงานตำรวจบางคนบอกผู้ทำการชี้ตัวถึงการแต่งกายของจำเลย พยานย่อมชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้องนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยคาดคะแนเอาเอง เพราะตามทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์เช่นที่จำเลยอ้างเกิดขึ้น และที่จำเลยฎีกาอ้างว่าตามภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ผู้เสียหายปล่อยแขนทั้งสองข้างแนบลำตัวและหันหน้ามาทางกล้องถ่ายรูปโดยไม่มีลักษณะบ่งบอกให้เห็นว่ามีการชี้ตัวจำเลยนั้น เห็นว่า ในการดำเนินการชี้ตัวผู้ต้องหากรณีนี้ พนักงานสอบสวนได้จัดให้จำเลยยืนปะปนกับบุคคลอื่นอีก 5 คน โดยแต่ละคนจะถือกระดาษเขียนหมายเลขต่างๆ ไว้ การชี้ตัวผู้ต้องหากรณีนี้ผู้เสียหายจึงอาจแจ้งด้วยวาจาแก่พนักงานสอบสวนว่าบุคคลถือหมายเลขใดเป็นคนร้ายโดยไม่จำต้องใช้มือชี้ตัวผู้ต้องหาก็ได้ ภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาดังกล่าวจึงหาเป็นข้อพิรุธดังที่จำเลยอ้างไม่ นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้เสียหาย นางอรวีณ์และนางสาวอรพินท์ประจักษ์พยานโจทก์ต่างก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานดังกล่าวจะสมคบกันมาให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือเบิกความต่อศาลเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยให้ต้องรับโทษ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่านางอรวีณ์และนางนาวอรพินท์ประจักษ์พยานโจทก์มาถึงที่เกิดเหตุหลังจากกลุ่มคนร้ายหลบหนีไปแล้ว ไม่เห็นคนร้ายนั้น เป็นฎีกาที่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนไม่อาจรับฟังได้ จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบดังกล่าว จึงฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.7 พยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ได้ ส่วนปัญหาว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่นั้น ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีประพันธ์ ผาแก้วมณี เจ้าพนักงานแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายพยานโจทก์ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายได้รับอันตรายแก่กายเป็นบาดแผลที่ศีรษะ 3 แผล ใบหน้าฟกช้ำทั่ว บวม ตาทั้งสองข้างฟกช้ำบวมรอบขอบตา มีเลือดคั่งใต้เยื่อบุตาขาว หน้าอกขวามีแผลถลอก มีรอยฟกช้ำแถบไหปลาร้าซ้าย มือขวาบวม จากภาพรังสีบริเวณศีรษะ ทรวงอกและมือขวา พบว่ากระดูกโหนกแก้มขวาหัก ผู้เสียหายนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2544 และมีความเห็นว่า ต้องใช้เวลารักษาเกินกว่ายี่สิบเอ็ดวัน ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.7 ส่วนผู้เสียหายเบิกความเพียงว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติโดยผู้เสียหายมิได้เบิกความให้เห็นว่า ผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไรบ้าง ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหัก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน ก็เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังเกิดเหตุแล้ว 11 วัน ผู้เสียหายได้ไปชี้ตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจนครบาลบางมดตามภาพถ่ายหมาย จ.1 ตามภาพถ่ายดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีการเข้าเฝือกที่ใบหน้าผู้เสียหาย และผู้เสียหายมีสภาพปกติดีพยานหลักฐานโจทก์ในข้อนี้จึงฟังไม่ได้ว่า ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะถือเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) คดีคงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายอันเป็นความผิดตามมาตรา 295 เท่านั้น แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามกฎหมายเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 ทั้งนี้โดยเทียบเคียงแบบอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2535 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนครนายก โจทก์ นายบุญส่ง ประเสริฐพันธ์ กับพวก จำเลย สำหรับปัญหาว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันปล้นทรัพย์ตามคำฟ้องของผู้เสียหายไปด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้น ปรากฏว่าจำเลยกับพวกมิได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปทันทีที่พบผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเดินจากจุดที่ยืนรอนางอรวีณ์ไปหาพวกของจำเลย 3 คน ที่สนามฟุตบอลซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 70 เมตร และสอบถามพวกของจำเลยว่า “ทำอะไรอยู่” จึงถูกพวกของจำเลยทำร้ายและได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทอนุวัฒน์ เจริญพร พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ผู้เสียหายไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 23.30 นาฬิกา แต่เวลาเกิดเหตุคือเวลา 0.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบวรผู้จับกุมจำเลยพยานโจทก์ว่า จากการสืบสวนของพยานทราบว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดในซอยที่เกิดเหตุเพื่อรอรับนางอรวีณ์ เมื่อจอดรถแล้วผู้เสียหายได้เดินเข้าไปถามกลุ่มจำเลยว่า บ้านนางอรวีณ์อยู่ที่ไหน จึงถูกกลุ่มจำเลยทำร้าย กับคดียังได้ความจากบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.4 ของพันตำรวจโทอนุวัฒน์พนักงานสอบสวนว่า ในคืนเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุเวลาระหว่าง 1.30 นาฬิกา ถึง 2 นาฬิกา และมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าคนร้ายอาจเกิดความโกรธแค้นผู้เสียหายที่มาติดพันหญิงสาวภายในซอยที่เกิดเหตุจึงได้ทำร้ายผู้เสียหายยิ่งกว่านั้งยังปรากฏว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกับพวกทำร้ายอย่างรุนแรง และระหว่างจำเลยกับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายอยู่นั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดขู่เข็ญเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นทรัพย์ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยกับพวก ทั้งไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายได้ต่อสู้ขัดขวางมิให้พวกของจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปแต่อย่างใด หากจำเลยกับพวกประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรกก็ไม่น่าจะรุมทำร้ายผู้เสียหายอย่างรุนแรงถึงเพียงนั้น ตามคำเบิกความของผู้เสียหายก็ได้ความแต่เพียงว่า เมื่อผู้เสียหายล้วงอาวุธปืนของผู้เสียหายออกมาก็ถูกนายชัยพวกของจำเลยแย่งเอาไปโดยขณะนั้นจำเลยยังมิได้เข้ามาร่วมรุมทำร้ายผู้เสียหายและไม่ปรากฏว่าจำเลยอยู่ ณ ที่ใด ขณะที่นายตึ๋งกับนายติเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่และกระเป๋าสะพายซึงมีเงินสดบรรจุอยู่จำนวน 2,200 บาท ของผู้เสียหายไปตามที่ผู้เสียหายอ้างนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ใดที่ส่อในทางว่าจำเลยรู้เห็นเป็นใจกับพวกของจำเลยให้กระทำดังกล่าวด้วย ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของนางสาวอรพิณท์ประจักษ์พยานโจทก์ว่า ก่อนหลบหนี้จำเลยกับพวกได้ช่วยกันทำลายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแทนที่จะเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปด้วย ดังนี้ ตามรูปเรื่องที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะร่วมกับพวกเอาทรัพย์ตามคำฟ้องของผู้เสียหายไปด้วยหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อนี้ให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83 เท่านั้น แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสมาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสุดท้าย ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตามคำขอท้ายฟ้อง นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คดีนี้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซ้ำกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ของจำเลยในคดีก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) ดังที่โจทก์ฟ้อง แต่ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 92 มาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2536 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสงคราม โจทก์ นายพิสิทธิ์หรือเอ๋ ศรสิทธิ์ กับพวก จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม และเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งตามมาตรา 93 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหายมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 2 ปี และให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน กับให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

Share