แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สถานที่เกิดเหตุที่จำเลยเข้าไปลักเอาสายไฟฟ้าของโจทก์ร่วมเป็นสำนักงานประปาสงขลา อันเป็นส่วนงานของการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมิใช่สถานที่ราชการจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ แต่เมื่อจำเลยลักทรัพย์ดังกล่าวในเวลากลางคืนจึงยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ร่วมเป็นคำขอในส่วนคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ซึ่งประเด็นนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานการประปาสงขลา ได้เข้าไปในสำนักงานประปาสงขลา (เขตจำหน่ายน้ำหาดใหญ่) ซึ่งเป็นสถานที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควรและลักเอาสายไฟฟ้าทองแดงขนาด ซีวี 1-300 ตารางมิลลิเมตร ยาว 1,930 เมตร และสายไฟฟ้าทองแดงขนาด ซีวี 1-150 ตารางเมตร ยาว 18 เมตร รวมเป็นเงิน 959,760 บาท ของสำนักงานประปาสงขลา (เขตจำหน่ายน้ำหาดใหญ่) ไปโดยทุจริต เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมเลื่อยตัดเหล็ก 1 คัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเลยใช้กระทำผิดและเปลือกหุ้มสายไฟฟ้าทองแดงที่จำเลยลักไปเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 33 และริบเลื่อยของกลางกับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 959,760 บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา การประปาส่วนภูมิภาคผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(8) (ที่ถูกมาตรา 335(1)(8) วรรคสอง) จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 959,760 บาทแก่ผู้เสียหาย ริบเลื่อยของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายลักลอบตัดสายไฟฟ้าทองแดงขนาด ซีวี 1-300ตารางมิลลิเมตร ยาว 1.930 เมตร ราคา 955,350 บาท และขนาด ซีวี 1-150 ตารางมิลลิเมตร ยาว 18 เมตร ราคา 4,410 บาท รวมเป็นเงิน 959,760 บาท อันเป็นทรัพย์ของการประปาส่วนภูมิภาคโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ในสำนักงานประปาสงขลา (เขตจำหน่ายน้ำหาดใหญ่) ไป มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายสุทธิศักดิ์ พงษ์อักษร ลูกจ้างสำนักงานประปาสงขลาทำหน้าที่เข้าเวรควบคุมการผลิตน้ำประปา โรงกรองน้ำหาดใหญ่ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2541 เวลา 21.30 นาฬิกา ขณะพยานเข้าเวรและเดินตรวจบริเวณโรงสูบน้ำได้ยินเสียงดังผิดปกติบนฝ้าเพดานของโรงสูบน้ำซึ่งเป็นตะแกรงเหล็ก พยานมองขึ้นไปเห็นจำเลยนั่งยอง ๆ อยู่บนฝ้าเพดาน สอบถามแล้วจำเลยบอกว่ามาหาเหล็กฉาก หลังจากนั้นจำเลยลงมาพูดคุยกับพยานโดยถือเลื่อยตัดเหล็กและสะพายม้วนสายสลิงเหล็กยาว3 ถึง 5 เมตร เมื่อจำเลยเดินออกไปจากโรงสูบน้ำแล้ว พยานจึงไปดูบนฝ้าเพดานบริเวณที่พบจำเลยเห็นสายไฟฟ้าขาดเป็นท่อนมีเทปพันอยู่ วันรุ่งขึ้นพยานเข้าเวรอีกและได้ชวนนายสุริยะ สายทองแก้ว ซึ่งเข้าเวรด้วยกันขึ้นไปดูบนฝ้าเพดานบริเวณดังกล่าว พบสายไฟฟ้าที่วางอยู่บนรางเหนือฝ้าเพดานขาดเป็นช่วง ตรงรอยตัดของสายไฟฟ้ามีเทปพันไว้กับพบเศษผงทองแดงและขี้เลื่อย ต่อมาวันที่ 22 เดือนเดียวกันพยานกับนายนพ เหมมณีได้ตรวจสอบแล้วพบว่าสายไฟฟ้าขนาด ซีวี 1-300 ตารางมิลลิเมตร หายไปประมาณ1,000 เมตร และขนาด ซีวี 1-150 ตารางมิลลิเมตรหายไปประมาณ 10 เมตร จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ นางศิริพร ทักษิณไศล เบิกความว่าประมาณเดือนสิงหาคม 2541 ไม่ทราบวันที่แน่ชัดเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา ขณะพยานเดินผ่านถนนเส้นกลางซึ่งมีสะพานสายไฟฟ้าพาดผ่าน เคยเห็นจำเลยนั่งอยู่บนสะพานสายไฟฟ้าถึง 3 ครั้ง ต่างวันกัน พยานทักจำเลยว่าอยู่เวรหรือ สองครั้งแรกจำเลยตอบว่าครับ ครั้งที่สามเห็นจำเลยยืนถือเลื่อยขนาดเล็กอยู่บนรางสายไฟฟ้า พยานไม่ได้สนใจเพราะเข้าใจว่าจำเลยอยู่เวร และนายถาวร แกล้วทนงค์ เบิกความว่า เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม2541 พยานนำตาข่ายไปดักปลาในคลองอู่ตะเภาใกล้บ้านพักของจำเลยพบเปลือกสายไฟฟ้าถูกนำลวดทองแดงออกแล้วทิ้งอยู่ในคลองจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เห็นว่าแม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยกระทำผิดแต่นายสุทธิศักดิ์และนางศิริพรก็เป็นพยานแวดล้อมใกล้ชิดที่เห็นจำเลยถือเลื่อยตัดเหล็กอยู่บริเวณที่เกิดเหตุในเวลากลางคืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหน้าที่อยู่เวรหรือมีเหตุจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุในเวลาวิกาลเช่นนั้น ทั้งได้ความจากนายกัมพล บุญสนิทผู้อำนวยการกองปฏิบัติการสำนักงานประปาเขต 5 สงขลา พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยเป็นผู้ควบคุมระบบไฟฟ้าสำรองในบริเวณนั้นเพียงผู้เดียวและเป็นผู้ทราบระบบไฟฟ้าทั้งหมดโดยแท้จริง สายไฟฟ้าถูกตัดไปจำนวน 21 เส้นจากจำนวน 24 เส้น หากเป็นผู้อื่นจะไม่ทราบว่าสายไฟฟ้าเส้นใดมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ทั้งบริเวณที่ตั้งแผงสวิตซ์ควบคุมไฟฟ้านั้นห้ามบุคคลภายนอกเข้า พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยอาศัยเวลาปลอดคนเข้าไปตัดสายไฟฟ้าของโจทก์ร่วมเฉพาะเส้นที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านแล้วลักเอาไป และจำเลยยังได้ให้การรับสารภาพต่อคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงของโจทก์ร่วมซึ่งมีนายกัมพลเป็นประธานกรรมการว่า จำเลยเพียงคนเดียวลักสายไฟฟ้าของโจทก์ร่วมไปในเวลากลางคืนตามสำเนาบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.11 นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีสิบตำรวจเอกเจริญ ภักดี ผู้จับกุมจำเลยและร้อยตำรวจโทกิตติชัย สังขถาวร พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่าชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตามบันทึกการจับกุม บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.3, จ.7, จ.8 กับภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุหมาย จ.9 พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทุกปากไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งหรือปรักปรำจำเลย คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานจำเลยที่นำสืบปฏิเสธความรับผิดและได้ให้การรับสารภาพเพราะถูกทำร้ายนั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายเข้าไปลักเอาสายไฟฟ้าของโจทก์ร่วมตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า สำนักงานประปาสงขลา (เขตจำหน่ายน้ำหาดใหญ่) อันเป็นสถานที่เกิดเหตุเป็นที่ทำงานของจำเลย ซึ่งจำเลยชอบที่จะเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวได้ กรณีจึงไม่ใช่การลักทรัพย์ในสถานที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) นั้น เห็นว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่ในสำนักงานประปาสงขลา (เขตจำหน่ายน้ำหาดใหญ่) อันเป็นส่วนงานของการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมิใช่สถานที่ราชการ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในบริเวณสำนักงานประปาสงขลาดังกล่าวในเวลากลางคืน จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการคงเป็นความผิดเพียงลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า จำเลยลักสายไฟฟ้าของโจทก์ร่วมไปจำนวนเท่าใด การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวน 959,760 บาทแก่โจทก์ร่วมตามฟ้อง จึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลยนั้น เห็นว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคานี้เป็นคำขอในส่วนคดีแพ่ง โดยการพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 40 ซึ่งประเด็นข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้ จำเลยมิได้อุทธรณ์ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมเองแต่บังอาจลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเป็นจำนวนมากโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ทั้งหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สำนึกผิดหรือพยายามบรรเทาความเสียหายที่ก่อขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย อย่างไรก็ตามโทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดแก่จำเลยมานั้นสูงเกินกว่าอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวางโทษใหม่ให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)วรรคแรก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9