แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนเจ้าของที่ดินมีโฉนดยื่นฟ้องเอกชนด้วยกันเป็นจำเลยที่ ๑ และเทศบาลตำบลเป็นจำเลยที่ ๒ อ้างว่า โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ จนตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โดยอายุความ แต่จำเลยที่ ๑ นำเสาหินมาปักตามแนวเขตที่ดินของตน ทำให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางเข้าออกลำบาก และจำเลยที่ ๒ ได้ทุบและรื้อถอนถนนบริเวณปากทางช่วงที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่สามารถเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนทางพิพาทให้ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ และรื้อถอนเสาแนวเขต ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้ายุ่งเกี่ยวหรือกระทำการอันใด อันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่และครอบครัวไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ทางพิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างทางเข้าออกให้เหมือนเดิม และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทั้งสี่เพิ่งสร้างทางพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๔๖ โดยจำเลยที่ ๑ โต้แย้งคัดค้านมาโดยตลอด ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง โดยทั้งสองศาลเห็นพ้องกันในประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทว่า อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ยังคงมีความเห็นแย้งกันในประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกจำเลยที่ ๒ รื้อถอนถนนบริเวณปากทางที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๑ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสี่ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๑/๒๕๕๗
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดปทุมธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดปทุมธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นายสนั่น ไร่วอน ที่ ๑ นางสำอางค์ แสงเจริญ ที่ ๒ นายแสวง ไร่วอน ที่ ๓ นายสนอง ไร่วอน ที่ ๔ โจทก์ ยื่นฟ้องนางวิเชียร เหมือนใจ ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๓๐๘/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๕๐๐๑ โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๐๕๑ โจทก์ที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๐๕๒ และโจทก์ที่ ๔ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๐๕๓ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยโจทก์ทั้งสี่ปลูกบ้านพักอาศัยบนที่ดินแปลงดังกล่าวและทำทางเข้าออกบางส่วนผ่านที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๑๓๒ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ของจำเลยที่ ๑ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กว้าง ๒ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ไปสู่ทางสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและไม่มีผู้ใดคัดค้าน ทางเข้าออกดังกล่าวจึงตกเป็นภาระจำยอมของโจทก์ทั้งสี่โดยอายุความ ต่อมา จำเลยที่ ๑ นำเสาหินมาปักตามแนวเขตที่ดินของตน ทำให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางเข้าออกลำบาก และจำเลยที่ ๒ ได้ทุบและรื้อถอนถนนบริเวณปากทางช่วงที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่สามารถเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ให้ดำเนินการ จดทะเบียนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๑๓๒ บริเวณที่พิพาทให้ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ และรื้อถอนเสาแนวเขต ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้ายุ่งเกี่ยวหรือกระทำการอันใดอันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่และครอบครัวไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ทางพิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างทางเข้าออกให้เหมือนเดิม และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสี่เพิ่งมาใช้ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๑ เป็นทางเข้าออกเมื่อปี ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ โต้แย้งคัดค้านตลอดมา และจำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีที่ศาลนี้ เมื่อจำเลยที่ ๒ ยอมรื้อถอนทางพิพาท จำเลยที่ ๑ จึงถอนฟ้อง ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ การรื้อถอนทางเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ ๒ ถนนพิพาทโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้เป็นผู้สร้าง และจำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ เมื่อรื้อถอนแล้วสภาพถนนเป็นลูกรังยังสามารถนำรถเข้าออกได้ตามปกติ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง และการที่โจทก์ทั้งสี่และครอบครัวใช้ที่พิพาทเป็นทางเข้าออกทำให้จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้โจทก์ทั้งสี่ชดใช้ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ ๒ สร้างทางพิพาทเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อปี ๒๕๔๖ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน จนกระทั่งเดือนเมษายน ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๒ ได้รับหนังสือจากจำเลยที่ ๑ แจ้งว่าถนนพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ ๒ ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าถนนอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ โดยมีโจทก์ที่ ๑ และที่ ๔ เป็นผู้ร่วมชี้แนวเขต และจำเลยที่ ๑ มีหนังสือยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ไม่ติดภาระจำยอม จำเลยที่ ๒ จึงรื้อถอนถนนคอนกรีตออกจากทางพิพาท ทำให้ถนนมีสภาพเป็นถนนลูกรังซึ่งโจทก์ทั้งสี่สามารถสัญจรได้ตามปกติ จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าทางพิพาทส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โดยอายุความ การที่จำเลยที่ ๑ ขอให้จำเลยที่ ๒ ทุบและรื้อถอนถนนทางพิพาทดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทั้งสี่เพิ่งสร้างทางพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๔๖ โดยจำเลยที่ ๑ โต้แย้งคัดค้านมาโดยตลอด ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ประเด็นพิพาทจึงมีว่า ทางพิพาทในส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตกเป็นภาระจำยอมของที่ดินของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เพียงใด ก่อนที่จะวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยไปถึงการกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จะต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าทางพิพาทในส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตกเป็นภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ทั้งสี่หรือไม่เป็นสำคัญก่อนเป็นประเด็นแรก แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจจัดให้มีและบำรุงรักษา ทางน้ำและทางบก ตามมาตรา ๖๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ อันเป็นการให้อำนาจแก่จำเลยที่ ๒ ในการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ เมื่อโจทก์ทั้งสี่อ้างว่า จำเลยที่ ๒ รื้อถอนถนนบริเวณปากทางที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๑ ส่งผลให้พื้นถนนต่ำกว่าพื้นถนนคอนกรีต ๒๕ เซ็นติเมตร รถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ ไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทเพื่อให้โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้เช่นเดิมนั้น เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ ๑ จนตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โดยอายุความ แต่จำเลยที่ ๑ นำเสาหินมาปักตามแนวเขตที่ดินของตน ทำให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางเข้าออกลำบาก และจำเลยที่ ๒ ได้ทุบและรื้อถอนถนนบริเวณปากทาง ช่วงที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่สามารถเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนทางพิพาทให้ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ และรื้อถอนเสาแนวเขต ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้ายุ่งเกี่ยวหรือกระทำการอันใดอันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่และครอบครัวไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ทางพิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างทางเข้าออกให้เหมือนเดิม และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทั้งสี่เพิ่งสร้างทางพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๔๖ โดยจำเลยที่ ๑ โต้แย้งคัดค้านมาโดยตลอด ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง โดยทั้งสองศาลเห็นพ้องกันในประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทว่าอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ยังคงมีความเห็นแย้งกันในประเด็นที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกจำเลยที่ ๒ รื้อถอนถนนบริเวณปากทางที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๑ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสี่ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์ กล่าวอ้างเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสนั่น ไร่วอน ที่ ๑ นางสำอางค์ แสงเจริญ ที่ ๒ นายแสวง ไร่วอน ที่ ๓ นายสนอง ไร่วอน ที่ ๔ โจทก์ นางวิเชียร เหมือนใจ ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ