แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานของรัฐ และจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตามแต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินมีโฉนด เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าที่ดินของเจ้ามรดกรุกล้ำเข้ามาใน น.ส.ล. (หนองปลาปาก) เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดปรากฏว่าที่ดินของเจ้ามรดก และ น.ส.ล. มีเนื้อที่ทับซ้อนกัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนที่ดินตาม น.ส.ล. ซึ่งออกทับที่ดินของเจ้ามรดก จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หนองปลาปาก อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การออกโฉนดที่ดินของโจทก์รุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์และเป็นการออกโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้ามรดกตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๐/๒๕๕๗
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดนครพนม
ระหว่าง
ศาลปกครองอุดรธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครพนมโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นายเซ็ง คะปัญญา ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิด คะปัญญา โจทก์ ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอศรีสงคราม ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครพนม เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๑๘/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๒๗๓ เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทของนางนิดเจ้ามรดก แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาศรีสงคราม แจ้งว่าที่ดินของนางนิดล้ำเข้ามาใน น.ส.ล. เลขที่ ๒๘๔๓๙ (หนองปลาปาก) ประมาณ ๑๐ ไร่เศษ ต่อมา โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดปรากฏว่าที่ดินของนางนิดและ น.ส.ล. มีเนื้อที่ทับซ้อนกันประมาณ ๑๐ ไร่ การออก น.ส.ล. ผิดพลาด เนื่องจากส่วนที่ทับที่ดินของนางนิดไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ แก้ไข แต่จำเลยที่ ๒ เพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนที่ดินตาม น.ส.ล. เลขที่ ๒๘๔๓๙ เนื้อที่ ๑๐ ไร่เศษ ซึ่งออกทับที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๒๗๓ ของนางนิด
จำเลยทั้งสองให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๘๔๓๙ ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์หนองปลาปาก ซึ่งเป็นหนองน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกโฉนดที่ดินของโจทก์รุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวเป็นการออกโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินเนื้อที่ ๑๐ ไร่เศษ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครพนมพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐอ้างว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางนิด คะปัญญา ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๒๗๓ ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาศรีสงคราม ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ และเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวได้ล้ำเข้ามาในที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๘๔๓๙ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ไม่มีราษฎรเข้าใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่ออกทับที่ดินของนางนิด ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การออกโฉนดที่ดินของนางนิดเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การฟ้องคดีระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องทำการวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทของนางนิดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดิน ดังนั้น การที่จะพิจารณาและพิพากษาตามคำฟ้องได้นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนิดหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของเจ้ามรดก ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อน เนื่องจากออกโดยไม่ได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ไม่ได้รังวัดเนื้อที่ตามที่ปรากฏว่ามีประชาชนเข้าทำประโยชน์จริง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินของเจ้ามรดก ได้รับความเสียหายไม่อาจรู้แนวเขตที่ดินที่แน่ชัดและจัดการแบ่งที่ดินแก่ทายาทอื่นต่อไปได้ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๘๔๓๙ ซึ่งออกทับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๒๗๓ ของเจ้ามรดก กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก โดยคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานของรัฐ และจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินมีโฉนด เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าที่ดินของเจ้ามรดกรุกล้ำเข้ามาใน น.ส.ล. (หนองปลาปาก) เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดปรากฏว่าที่ดินของเจ้ามรดก และ น.ส.ล. มีเนื้อที่ทับซ้อนกัน การออก น.ส.ล. ผิดพลาด และส่วนที่ทับที่ดินของเจ้ามรดกไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนที่ดินตาม น.ส.ล. ซึ่งออกทับที่ดินของเจ้ามรดก จำเลยทั้งสองให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หนองปลาปาก อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกโฉนดที่ดินของโจทก์รุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์และเป็นการออกโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ ในการฟ้องคดีต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้ามรดกตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเซ็ง คะปัญญา ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิด คะปัญญา โจทก์ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอศรีสงคราม ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ