คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สำนักนายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นกระทรวง กองที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งของโจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรีมีค่าใช้จ่ายอยู่ในงบประมาณของโจทก์เป็นส่วนราชการที่โจทก์ดูแลรับผิดชอบ โจทก์ฟ้องผู้ที่ละเมิดให้เงินของกองนั้น ๆ ขาดไปได้ผู้อำนวยการซึ่งมีอำนาจชี้ขาดรู้ตัวผู้ทำละเมิดในวันที่ชี้ขาดให้ดำเนินการตามรายงานกรรมการสอบสวน กรรมการสอบสวนมิใช่ตัวแทนของโจทก์ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797
โจทก์ส่งเอกสารเพื่อประกอบคำถามค้านพยานจำเลย โดยไม่ส่งสำเนาเอกสาร ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ศาลอนุญาตได้ตาม มาตรา 86, 87, 89

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 907.10 บาทแก่โจทก์ เป็นเงินซึ่งจำเลยผู้เป็นรองผู้อำนวยการได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบแล้วขาดหายไป จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และ กอ. ปค. หรือ กอ.รมน.ได้จัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งของโจทก์ที่ 1 โดยนายกรัฐมนตรีตามมติคณะรัฐมนตรีกับทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวเป็นเงินงบประมาณของโจทก์ที่ 1เช่นนั้น ก.อ. ปค. หรือ กอ.รมน. จึงเป็นส่วนราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความควบคุมดูแลรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า ยังถือไม่ได้ว่า กอ. ปค. หรือ กอ.รมน. เป็นส่วนราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 และเงินงบประมาณของ กอ. ปค. หรือ กอ.รมน. มิใช่เงินงบประมาณที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 20 พฤษภาคม2518 จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ตามฟ้องของโจทก์ข้อ 1 ถึงข้อ 4 เป็นความจริง โดยขอสละข้อต่อสู้ในประเด็นตามฟ้องดังกล่าว ฉะนั้นประเด็นข้อเท็จจริงข้อนี้จึงต้องรับฟังเป็นยุติได้ตามฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 4 ว่า กอ. ปค. หรือ กอ.รมน.เป็นส่วนราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 และเงินงบประมาณของ กอ.ปค. หรือ กอ.รมน. เป็นเงินลบประมาณที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 เมื่อจำเลยยอมรับและได้สละข้อต่อสู้ดังกล่าวแล้ว จะมาเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นในภายหลังหาได้ไม่

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เพียงใดหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 9,907 บาท 10 สตางค์ และคดีมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3 เสียแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คณะกรรมการได้เสนอรายงานผลของการสอบสวนและความเห็นตามลำดับชั้นไปยัง ผอ.ปค. เพื่อสั่งว่าใครจะต้องรับผิดบ้างตามเอกสารหมาย จ.4เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2516 และ ผอ.ปค. ได้ ทราบรายงานและสั่งอนุมัติให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการเสนอ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 เช่นนี้ ต้องถือว่า ผอ.ปค. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วแต่วันที่ 16 มกราคม 2517 ซึ่งนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 มกราคม 2518 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่า คณะกรรมการที่โจทก์แต่งตั้งขึ้นทำการสอบสวนเป็นตัวแทนของโจทก์ จึงต้องถือว่าได้รู้ตัวผู้ต้องรับผิดตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม2516 นั้น เห็นว่า การแต่งตั้งกรรมการขึ้นทำการสอบสวนหาตัวผู้ต้องรับผิดมิใช่เป็นเรื่องตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนไปทำการแทน ดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 จึงถือว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้ต้องรับผิดตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2516 ดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตของสิบเอกวาลัย นวลอึ่ง สิบเอกวาลัย นวลอึ่งกับพวกที่รับผิดชอบได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้ว โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจากจำเลยได้อีก เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจะยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาไม่ได้ เหตุนี้ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์และที่จำเลยฎีกาว่าที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อ้างส่งเอกสารหมาย จ.11 เป็นพยานเมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้ว และโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นการไม่ชอบ เห็นว่าการส่งเอกสารหมาย จ.11 ต่อศาลเพื่อประกอบคำถามค้านจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยานโดยไม่ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานอันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 นั้น ศาลมีอำนาจที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86,87, 89”

พิพากษายืน

Share