แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยมีไม้งิ้วอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกามีพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิม และตามพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่นี้มิได้กำหนดให้ไม้งิ้วเป็นไม้หวงห้ามการกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 69, 74, 74 จัตวา พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505มาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19, 27,28 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3 ริบไม้หวงห้ามของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 3 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้งิ้วอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. อันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 ซึ่งไม้งิ้วในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชรเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2505 บัญชีที่ 1 อันดับ 34 แต่บัดนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกากกำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2505 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531เป็นต้นไป ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่นี้ บัญญัติให้ไม้บางชนิดในป่าในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาเป็นไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 ซึ่งตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มิได้กำหนดให้ไม้งิ้วเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ดังนั้นไม้งิ้วจึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 อีกต่อไปฉะนั้นการกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องจำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดดังที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2บัญญัติไว้ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์