คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11236/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำยืนยันรับรองข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เกมเป็นคำรับรองยืนยันของกรรมการบริษัท ก. ว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 ซึ่งได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น มิใช่คำรับรองยืนยันของบริษัทโจทก์ร่วมในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนในสำเนาหนังสือมอบอำนาจก็ปรากฏว่า ประธานบริษัทโจทก์ร่วมยืนยันเพียงว่าบริษัทโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของและหรือผู้อนุญาตซึ่งเกมวิดีโอเครื่องเล่นอาร์เคดและซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาร์เคดภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “SEGA” เท่านั้น โจทก์ร่วมมิได้ยืนยันความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง ในข้อนี้กลับปรากฏจากพยานหลักฐานของจำเลยตามสำเนาหนังสือของบริษัท ซ. ว่า บริษัท ซ. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแผ่นซีดีเกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 ซึ่งได้โฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศสหราชอาณาจักร พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงรับฟังไม่ได้ว่า บริษัทโจทก์ร่วมประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามฟ้อง โจทก์ร่วมจึงไม่อาจมอบอำนาจให้บริษัท ก. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดอันยอมความได้ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยในความผิดฐานนี้ และโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 30, 31, 61, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110 และ 115 ให้แผ่นดีวีดีเกมจำนวน 1 แผ่น ของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทแกแล็คซี่เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเซก้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ให้ระวางโทษตามมาตรา 110 (ที่ถูก มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108) ซึ่งปกเกมที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหาย (ที่ถูก ซึ่งปกเกมที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร) นั้นจำเลยได้ขายพร้อมกับแผ่นดีวีดีเกมในคราวเดียวกัน และโจทก์ก็ได้บรรยายคำฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ของกลางมีจำนวนแผ่นเดียว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้แผ่นดีวีดีเกมจำนวน 1 แผ่น ของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 ตามฟ้อง และเป็นผู้เสียหายซึ่งอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อส่วนตัวฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำยืนยันรับรองข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เกมเป็นคำรับรองยืนยันของนายสุพลและนายธนา ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทแกแล็คซี่เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด ตามสำเนาหนังสือรับรอง ว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 ซึ่งได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 มิใช่คำรับรองยืนยันของบริษัทโจทก์ร่วมในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 แต่อย่างใด ส่วนในสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ก็ปรากฏว่านายฮิซาโอะ (Hisao )ประธานบริษัทโจทก์ร่วมยืนยันเพียงว่าบริษัทโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของและหรือผู้อนุญาตซึ่งเกมวิดีโอเครื่องเล่นอาร์เคด (arcade machines) และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาร์เคดภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “SEGA” เท่านั้น โจทก์ร่วมมิได้ยืนยันความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้องเช่นกัน นอกจากนี้นายอภิชาติ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทแกแล็คซี่เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมว่า ที่แผ่นปกเกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของกลาง มีข้อความว่า “ไม่ต้องใช้ Crack ลงทะเบียนเหมือนของแท้ด้วย PhoneActivate” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบภาพแผ่นปกเกมดังกล่าวของแท้ใน แล้วปรากฏว่าแผ่นปกเกมของแท้จะไม่มีข้อความดังกล่าว เมื่อตรวจดูภาพปกเกมของแท้ที่มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษใน แล้วไม่ปรากฏว่ามีข้อความแสดงถึงชื่อบริษัทโจทก์ร่วมเป็นภาษาอังกฤษว่า “Sega Corporation” เป็นผู้ผลิตสินค้าเกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009แต่อย่างใด รวมทั้งในภาพแผ่นปกเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” แผ่นที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมีลิขสิทธิ์ถูกต้องและจัดจำหน่ายในประเทศไทยโดยนิวอีร่าตามภาพถ่ายแผ่นปกเกม ที่ทนายโจทก์ร่วมใช้ประกอบการถามค้านตัวจำเลยก็ไม่ปรากฏชื่อบริษัทโจทก์ร่วมเป็นภาษาอังกฤษว่า “Sega Corporation” เป็นผู้ผลิตสินค้าเกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 เช่นกัน ในข้อนี้กลับปรากฏจากพยานหลักฐานของจำเลยตามสำเนาหนังสือของบริษัทเซก้ายุโรปจำกัด (SEGA Europe Limited) ในประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ว่า บริษัทเซก้ายุโรป จำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแผ่นซีดีเกมฟุตบอลเมเนเจอร์ 2009 ซึ่งได้โฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหราชอาณาจักร ดังนี้ จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังได้วินิจฉัยมาดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ว่า บริษัทโจทก์ร่วม (Sega Corporation) ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกม “FOOTBALL MANAGER 2009” ดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกม “FOOTBALL MANAGER 2009” โจทก์ร่วมจึงไม่อาจมอบอำนาจให้บริษัทแกแล็คซี่เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดอันยอมความได้ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยในความผิดฐานนี้ และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และ 121 กรณีจึงต้องพิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดฐานนี้ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายซึ่งสินค้าดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า “SEGA” ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วสำหรับสินค้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้นายสุพล กรรมการบริษัทแกแล็คซี่เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมและนายอภิชาติ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทแกแล็คซี่เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่า บริษัทโจทก์ร่วมที่ประเทศญี่ปุ่นผลิตสินค้าดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” ออกจำหน่ายตั้งแต่เมื่อใดและส่งสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อใด และโจทก์กับโจทก์ร่วมก็ไม่ได้ส่งแผ่นดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009″ของแท้ที่บริษัทโจทก์ร่วมเป็นผู้ผลิตเป็นวัตถุพยานในคดีนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงสำคัญในการวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างส่งเพียงภาพปกสินค้าดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” เป็นภาษาอังกฤษตามภาพถ่ายใน และภาพถ่ายปกสินค้าดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” แผ่นที่ 3 และ 4 ที่เป็นของแท้เท่านั้น ซึ่งภาพถ่ายปกสินค้าแผ่นดีวีดีดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อบริษัทโจทก์ร่วมเป็นภาษาอังกฤษว่า “Sega Corporation”เป็นผู้ผลิตสินค้าดีวีดีเกมดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายปกสินค้าดีวีดีเกม”FOOTBALL MANAGER 2009” ระบุว่า เป็นดีวีดีเกมที่ไม่มีจำหน่ายนอกประเทศไทย (NOT FOR SALE OUTSIDE THAILAND) หรือเป็นดีวีดีเกมที่ให้จำหน่ายเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และเป็นการจัดจำหน่ายโดยนิวอีร่า ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยตามสำเนาหนังสือของบริษัทเซก้ายุโรป จำกัด ซึ่งระบุว่าบริษัทเซก้ายุโรป จำกัด ที่ประเทศสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” และบริษัทเซก้ายุโรป จำกัดได้มอบอำนาจให้บริษัทนิวอีร่าอินเตอร์แอกทีฟ จำกัด (New Era Interactive MediaCo.,Ltd.) เป็นผู้ควบคุมบริษัทเอ็มพีโอเอเชีย จำกัด (MPO Asia Co.,Ltd.) ในการผลิตซีดีเกม “Football Manager 2009 PC” ออกจำหน่าย ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า บริษัทโจทก์ร่วมได้ผลิตสินค้าดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “SEGA” ออกจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อใด ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าบริษัทโจทก์ร่วมเป็นผู้ผลิตสินค้าดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” ออกจำหน่ายในประเทศไทย และเมื่อไม่มีสินค้าดีวีดีเกมดังกล่าวของโจทก์ร่วมที่แท้จริงวางจำหน่ายในประเทศไทยประกอบกับข้อเท็จจริงยังได้ความว่ามีสินค้าที่บริษัทเซก้ายุโรป จำกัด ในประเทศสหราชอาญาจักรผลิตโดยใช้เครื่องหมายการค้า “SEGA” เช่นเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ร่วมออกจำหน่ายในต่างประเทศ ย่อมเป็นไปได้ว่าจำเลยอาจมีสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “SEGA” โดยชอบดังกล่าวมาจากต่างประเทศ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่าแผ่นดีวีดีเกม”FOOTBALL MANAGER 2009″ ของกลางที่ยึดจากจำเลยเป็นสินค้าดีวีดีเกม “FOOTBALL MANAGER 2009” ปลอมและเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “SEGA” ปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า “SEGA” ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดฐานจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share