คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7200/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ๆ เนื่องจากการเลิกจ้างโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ และให้จ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นคำฟ้องที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และโจทก์อาจฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานมาในคดีเดิมได้เพราะจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ก่อนแล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ไม่ฟ้อง เมื่อคดีเดิมมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่มีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีเดิม จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามมิให้โจทก์รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แต่ในส่วนค่าเสียหายของโจทก์จากการไม่ได้ค่าจ้างนับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างตลอดมาถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง แล้วรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาศาลแรงงานและในวันเดียวกันจำเลยมีคำสั่งให้เลิกจ้างโจทก์อีกนั้น ถือเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ยอมให้โจทก์ทำงานโดยตรง และโจทก์เพิ่งเกิดสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ตั้งแต่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาในคดีก่อนที่ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ แล้วให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกับที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอีก จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งโจทก์ไม่อาจฟ้องขอรวมมาในคดีเดิมได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกมาเป็นค่าจ้างในส่วนนี้ไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยมีคำสั่งที่ให้ไล่โจทก์ออกจากงานต้องถือว่าเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ไปในตัวตั้งแต่วันที่มีคำสั่งไล่ออกมิใช่วันที่จำเลยมีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาของศาล คำสั่งพักงานโจทก์เป็นคำสั่งให้พักงานเพื่อรอการผลการสอบสวนของจำเลยเมื่อจำเลยสอบสวนเสร็จและมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน ต้องถือว่าเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ไปในตัวตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออก และผู้มีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างตามระเบียบของจำเลย แต่กรณีของโจทก์ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากศาลเป็นผู้มีคำสั่งนั้นล้วนเป็นอุทธรณ์ในเรื่องที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นฟ้องซ้ำ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2471 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 41,060 บาท เมื่อวันที่ 15มิถุนายน 2538 จำเลยมีคำสั่งที่ 82/2538 ให้พักงานโจทก์เพื่อรอผลการสอบสวนโจทก์ทางวินัยไว้จนกว่าจะพิจารณาชี้ขาดความผิดเสร็จสิ้นวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยมีคำสั่งที่ 109/2538ให้ไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยอ้างว่าโจทก์จงใจทุจริตต่อหน้าที่และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยอันเป็นการกระทำผิดวินัยของพนักงานตามระเบียบ 204 (ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด) ว่าด้วยการพนักงานของชุมนุมสหกรณ์พ.ศ. 2535 ข้อ 23(2)(3)(4)(5)(6) และข้อ 25.1 (1)(2)(5)ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยกระทำผิดระเบียบวินัยข้อบังคับแบบแผนของจำเลยแต่อย่างใด ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม2540 ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีความผิดตามที่จำเลยกล่าวหา ให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 109/2538 ลงวันที่ 1 กันยายน2538 ที่เลิกจ้างโจทก์ และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ และอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้างโดยให้นับอายุการทำงานต่อเนื่องเสมือนไม่เคยถูกเลิกจ้าง คดีถึงที่สุด จำเลยมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา กล่าวคือ จำเลยต้องออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 82/2538 และ 109/2538 แล้วรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยต่อไป แต่จำเลยไม่ดำเนินการออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ 82/2538 ที่สั่งพักงานโจทก์ ซึ่งจำเลยได้ออกระเบียบที่ 204ว่าด้วยการพนักงานของชุมนุมสหกรณ์ พ.ศ. 2535 ข้อ 26 มีข้อความสรุปว่า พนักงานผู้ใดถูกสั่งให้พักงานให้จำเลยงดจ่ายเงินเดือนและเงินอื่นใดที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานผู้นั้นจนกว่าจะพิจารณาชี้ขาดว่าพนักงานนั้นไม่มีความผิดก็ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนและเงินอื่นใดที่พนักงานพึงได้รับย้อนหลังตั้งแต่วันถูกสั่งพักงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน2538 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2541 เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน 10 วันในอัตราค่าจ้างเดือนละ 41,060 บาท รวมเป็นเงิน 1,368,666 บาทแต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 82/2538 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 และจ่ายค่าจ้างค้างชำระจำนวน 1,368,666 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลได้พิพากษาถึงที่สุดให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง โดยนับอายุการทำงานต่อเนื่องเสมือนไม่เคยถูกเลิกจ้างคำขออื่นให้ยก เท่ากับว่าศาลได้วินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายระหว่างถูกเลิกจ้างรวมถึงค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกัน ต้องฟ้องเรียกร้องให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกันฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ และฟ้องโจทก์ในเรื่องให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 82/2538 เป็นฟ้องซ้ำเนื่องจากในคดีก่อนโจทก์ได้บรรยายฟ้องตามคำสั่งดังกล่าวและศาลได้วินิจฉัย คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์ไม่มีสิทธินำประเด็นดังกล่าวมาฟ้องจำเลยอีก จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษารับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้ว การที่จำเลยมิได้สั่งยกเลิกคำสั่งพักงานที่ 82/2538 เพราะคำพิพากษามิได้ระบุไว้และจำเลยถือว่าคำสั่งให้พักงานสิ้นผลไปตั้งแต่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกแล้ว จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานเท่ากับว่ายกเลิกคำสั่งพักงานไปในตัว จึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้ยกเลิกการพักงานอีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 109/2538 ที่ให้โจทก์ออกจากงานเพื่อนำไปสู่การขอบังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินโบนัสเงินบำเหน็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพักงานเพื่อนำไปสู่การขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างโจทก์ถูกพักงานตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการพนักงานของชุมนุมสหกรณ์ พ.ศ. 2535 ข้อ 26 ซึ่งโจทก์ไม่ได้ฟ้องในคดีก่อน เป็นการฟ้องคนละประเด็นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำเมื่อจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วเท่ากับจำเลยได้ยกเลิกคำสั่งพักงานโจทก์โดยปริยาย จึงไม่จำต้องมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 82/2538 อีก เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วเท่ากับจำเลยเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์โดยปริยาย ซึ่งระเบียบชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด ว่าด้วยการพนักงานของชุมนุมสหกรณ์ พ.ศ. 2535 ข้อ 26ระบุว่า หากพนักงานถูกสั่งให้พักงาน ให้ชุมนุมสหกรณ์งดจ่ายเงินเดือนและเงินอื่นใดไว้ก่อนจนกว่าจะพิจารณาชี้ขาดความผิดทางวินัยหากผู้ถูกสั่งพักงานไม่มีความผิดให้ชุมนุมสหกรณ์จ่ายเงินเดือนและเงินอื่นใดที่พนักงานพึงได้รับย้อนหลังตั้งแต่วันถูกสั่งพักงานโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 25มีนาคม 2541 เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน 10 วัน อัตราค่าจ้างเดือนละ41,060 บาท รวมเป็นเงิน 1,368,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวน 1,368,666บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าคำสั่งพักงานและระเบียบของจำเลยว่าด้วยการพนักงานขอชุมนุมสหกรณ์ พ.ศ. 2535 ข้อ 26 มีอยู่ก่อนแล้วในขณะโจทก์ฟ้องคดีก่อนทั้งในคดีก่อนโจทก์ฟ้องกลับเข้าทำงานและขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างถูกเลิกจ้างย่อมครอบคลุมถึงประเด็นในคดีนี้ เมื่อในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในประเด็นค่าเสียหายระหว่างถูกเลิกจ้างย่อมรวมถึงค่าจ้างในคดีนี้ด้วยจึงเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 82/2538 ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำเนื่องจากโจทก์ได้ฟ้องเรื่องนี้ในคดีก่อนและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วนั้นเห็นว่า คดีเดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ๆ เนื่องจากการเลิกจ้างโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์และจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นคำฟ้องที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และโจทก์อาจฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538มาในคดีเดิมของศาลแรงงานกลางได้ เพราะจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ก่อนแล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538แต่โจทก์ไม่ฟ้อง เมื่อคดีเดิมมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่มีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีเดิม จึงเป็นฟ้องซ้ำซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์รื้อร้องฟ้องกันอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31

แต่ในส่วนค่าเสียหายของโจทก์จากการไม่ได้ค่าจ้างนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ตลอดมาถึงวันที่ 25 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีคำสั่งที่ 20/2541 ยกเลิกคำสั่งที่ 109/2538 แล้วรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางดังกล่าว และในวันเดียวกันจำเลยมีคำสั่งที่ 21/2541 ให้เลิกจ้างโจทก์อีกนั้นถือเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ยอมให้โจทก์ทำงานโดยตรง และโจทก์เพิ่งเกิดสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ตั้งแต่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในคดีก่อนให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 109/2538 ที่เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 แล้วให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแต่จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกับที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2541 อีก จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งโจทก์ไม่อาจฟ้องขอรวมมาในคดีเดิมได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกมาเป็นค่าจ้างในส่วนนี้ไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามบทกฎหมายดังกล่าว

ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองที่ว่า เมื่อจำเลยมีคำสั่งที่ 109/2538ให้ไล่โจทก์ออกจากงาน ต้องถือว่าเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ที่ 82/2538 ไปในตัวตั้งแต่วันที่มีคำสั่งไล่ออก มิใช่วันที่จำเลยมีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาของศาล อุทธรณ์ข้อสามที่ว่า คำสั่งของจำเลยที่ 82/2538 เป็นคำสั่งให้พักงานเพื่อรอผลการสอบสวนของจำเลย เมื่อจำเลยสอบสวนเสร็จและมีคำสั่งที่ 109/2538 ไล่โจทก์ออกจากงาน ต้องถือว่าเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งที่ 82/2538 ไปในตัวตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกคือวันที่ 1 กันยายน 2538 และอุทธรณ์ข้อสุดท้ายที่ว่า ผู้มีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างตามระเบียบของจำเลยที่ 204 ว่าด้วยการพนักงานของชุมนุมสหกรณ์ พ.ศ. 2535 ข้อ 26 คือ บุคคลผู้มีอำนาจตามข้อ 24 แต่กรณีของโจทก์ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากศาลเป็นผู้มีคำสั่งนั้น ล้วนเป็นอุทธรณ์ในเรื่องที่ได้วินิจฉัยไปแล้วข้างต้นว่าเป็นฟ้องซ้ำ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share