คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 136 ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวและทำสัญญาประกันขณะผู้ต้องหายังอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนคือพนักงานสอบสวนโดยตำแหน่ง มิใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันย่อมเป็นการผิดสัญญาต่อพนักงานสอบสวนโดยตรง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาประกันที่ทำไว้ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ทั้งสองนัด โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอผ่อนผันแต่อย่างใด ทั้งเมื่อโจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 ส่งตัวผู้ต้องหาอีก 3 ครั้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงเพิกเฉยเช่นเดิม ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า หลังจากทราบเรื่องแล้วได้พยายามติดตามตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นจากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ความสนใจหรือใส่ใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาประกันแต่อย่างใด จนคดีของผู้ต้องหาขาดอายุความทำให้โจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องให้รับโทษตามกฎหมาย ทำให้โจทก์และผู้เสียหายในคดีดังกล่าวได้รับความเสียหาย ชอบที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายประกันจะต้องรับผิดชอบคือถูกปรับตามสัญญาประกัน แต่ความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายประกันอาชีพ จึงมีเหตุสมควรที่จะลดค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 2 ลงบ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 700,000 บาท และ 1,000,000 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 700,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2542) ไม่เกิน 78,246.57 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 111,575.34 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลำผักชีนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 136 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ และมาตรา 106 (1) บัญญัติว่า คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราว เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ดังนั้น ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวและทำสัญญาประกันขณะผู้ต้องหายังอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนคือพนักงานสอบสวนโดยตำแหน่งมิใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันย่อมเป็นการผิดสัญญาต่อพนักงานสอบสวนโดยตรง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลำผักชีจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาประกันที่ทำไว้ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ประการต่อไปมีว่า สมควรสั่งปรับจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญาประกันเป็นจำนวนเงินเท่าใด ที่โจทก์ฎีกาขอให้ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท เต็มตามสัญญาประกัน ส่วนจำเลยที่ 2 ขอให้ลดค่าปรับลงเหลือไม่เกิน 100,000 บาท หรือให้มีจำนวนน้อยที่สุด เห็นว่า การที่ศาลจะใช้ดุลพินิจลดค่าปรับตามสัญญาประกันให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่เพียงใดนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงส่วนได้เสียในทุกทางแล้ว จะต้องคำนึงพฤติการณ์ของนายประกันว่ามีความใส่ใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาประกันมากน้อยเพียงใดด้วย ตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ทั้งสองนัด โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอผ่อนผันแต่อย่างใด ทั้งเมื่อโจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 ส่งตัวผู้ต้องหาอีก 3 ครั้ง ตามหนังสือขอให้ส่งตัวและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงเพิกเฉยเช่นเดิม ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าหลังจากทราบเรื่องแล้วได้พยายามติดตามตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็น จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ความสนใจหรือใส่ใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาแต่ประการใดจนคดีของผู้ต้องหาขาดอายุความทำให้โจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องให้รับโทษตามกฎหมาย ทำให้โจทก์และผู้เสียหายในคดีดังกล่าวได้รับความเสียหาย ชอบที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายประกันจะต้องรับผิดชอบ คือถูกปรับตามสัญญาประกัน แต่อย่างไรก็ตามความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา กฎหมายกำหนดโทษไว้เพียงปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายประกันอาชีพ จึงมีเหตุสมควรที่จะลดค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 2 ลงบ้าง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับให้จำเลยที่ 2 ลงเหลือเพียง 500,000 บาท นั้น ต่ำเกินไปไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรลดค่าปรับให้จำเลยที่ 2 ลงเหลือ 800,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 800,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share