คำวินิจฉัยที่ 102/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องเรียกเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) คืน เพราะเหตุเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ เห็นว่า การที่โจทก์จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้แก่จำเลยสืบเนื่องจากกรมบัญชีกลางอนุมัติสั่งจ่ายเงิน ช.ค.บ. แก่จำเลยตามมาตรา ๔ ตรี แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ การอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อกรมบัญชีกลางตรวจพบว่าคำสั่งอนุมัติสั่งจ่ายเงิน ช.ค.บ. คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงิน ช.ค.บ. กรมบัญชีกลางจึงมีคำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและมีคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับ โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบคำสั่งของกรมบัญชีกลางและให้โจทก์เรียกเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยได้รับส่งคืนคลัง จึงเป็นกรณีที่กรมบัญชีกลางได้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ โดยให้มีผลย้อนหลังการคืนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่จำเลยผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไปตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยคืนเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามคำขอได้หรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดเพียงใด นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่เพียงใด ซึ่งจะต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยเฉพาะคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๒/๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ กรมการพัฒนาชุมชน โจทก์ ยื่นฟ้องนางนวลศรี ศรีแก้ว จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๐๒/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๔ นายอนุศักดิ์ ศรีแก้ว ข้าราชการสังกัดโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะเหตุปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายพร้อมด้วยบิดามารดาของนายอนุศักดิ์ยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จตกทอดต่อโจทก์ในฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอด กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย โดยให้คลังจังหวัดอุบลราชธานีจ่ายบำนาญพิเศษแก่จำเลยจากงบกลางเป็นเงินเดือนละ ๔๐๓.๑๒ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๔ เป็นต้นไป โจทก์ได้จ่ายเงินค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ถึงปี ๒๕๕๐ เป็นเงิน ๑๑๐,๑๗๖.๒๐ บาท และมีการจ่ายเงินในระบบจ่ายตรงตั้งปี ๒๕๕๐ ถึงปี ๒๕๕๔ เป็นเงิน ๒๗๐,๒๗๙.๐๑ บาท ต่อมากรมบัญชีกลางตรวจสอบพบว่าจำเลยบรรจุเข้ารับราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต ๔ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๕ กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ ค่าครองชีพ เบี้ยหวัดบำนาญ ถ้าเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานหรือกลับเข้าทำงาน สังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงิน ช.ค.บ. ดังกล่าว กรมบัญชีกลางจึงไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๔ โดยให้โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบการงดจ่ายและให้เรียกเงินส่งคืนคลัง โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยได้รับโดยไม่มีสิทธิแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยปิดบังสถานะการเป็นข้าราชการ การจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานโจทก์เอง โจทก์ไม่อาจอ้างว่าเป็นความผิดของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงิน ช.ค.บ. คืนจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยเป็นข้าราชการ ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเบี้ยหวัดบำนาญ ถ้าเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานหรือกลับเข้าทำงานในสังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการเรียกเงินคืนโดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มูลเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้สืบเนื่องจากกรมบัญชีกลางอนุมัติสั่งจ่ายเงิน ช.ค.บ. แก่จำเลยตามมาตรา ๔ ตรี แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และโจทก์ได้จ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ถึงปี ๒๕๕๔ ต่อมากรมบัญชีกลางตรวจพบว่าคำสั่งอนุมัติสั่งจ่ายเงิน ช.ค.บ. คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงิน ช.ค.บ. กรมบัญชีกลางจึงมีคำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและมีคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๔ เป็นต้นไป โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบคำสั่งของกรมบัญชีกลางและให้โจทก์เรียกเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยได้รับส่งคืนคลัง โดยที่การอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ช.ค.บ. เป็นอำนาจของกรมบัญชีกลางตามมาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกอบกับมาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๓๕ การอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง และมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่นตามนัยมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การที่กรมบัญชีกลางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคืนเงิน ช.ค.บ. ส่งคืนคลัง โดยมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่ม และคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับให้โจทก์ทราบ กับให้โจทก์เรียกให้จำเลยคืนเงิน ช.ค.บ. เพื่อส่งคืนคลัง จึงเป็นกรณีที่กรมบัญชีกลางในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ช.ค.บ. ตามพระราชกฤษฎีกาข้างต้น ได้ทำการพิจารณาเรื่องทางปกครองเรื่องเดียวกันนั้นอีกครั้งหนึ่ง และมีการพิจารณาตัดสินใจในเนื้อหาของเรื่องนั้นแตกต่างจากเดิมโดยระงับการจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยและเพิกถอนคำสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยที่ได้กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิตามนัยมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หนังสือดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งผลในทางกฎหมายเมื่อมีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ โดยให้มีผลย้อนหลังนั้น ผู้รับคำสั่งทางปกครองต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่ได้รับไปตามหลักลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถ้าผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่อาจอ้างความเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครอง ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์เต็มจำนวน ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้การฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงิน ช.ค.บ. ที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิจะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามนัยมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็มิได้ทำให้การดำเนินการของกรมบัญชีกลางเป็นการใช้สิทธิในฐานะเอกชน การเรียกให้จำเลยคืนเงิน ช.ค.บ. ที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิได้รับจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หาใช่นำหลักเกณฑ์เรื่องการติดตามและเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ มาใช้บังคับแต่อย่างใด การพิจารณาคดีนี้ ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของกรมบัญชีกลางที่มีการอนุมัติให้จ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย และคำสั่งของกรมบัญชีกลางที่เพิกถอนคำสั่งที่เคยอนุมัติจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดในการคืนเงิน ช.ค.บ. ที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๖/๒๕๔๖

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องเรียกเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่จำเลยได้รับคืนเพราะเหตุจำเลยขาดคุณสมบัติ ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยปิดบังสถานะการเป็นข้าราชการ การจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลยเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานโจทก์เอง โจทก์ไม่อาจอ้างว่าเป็นความผิดของจำเลย เห็นว่า การที่โจทก์จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้แก่จำเลยคดีนี้สืบเนื่องจากกรมบัญชีกลางอนุมัติสั่งจ่ายเงิน ช.ค.บ. แก่จำเลยตามมาตรา ๔ ตรี แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. ๒๕๒๑ การอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ช.ค.บ. ให้แก่จำเลย จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อกรมบัญชีกลางตรวจพบว่าคำสั่งอนุมัติสั่งจ่ายเงิน ช.ค.บ. คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงิน ช.ค.บ. กรมบัญชีกลางจึงมีคำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและมีคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับ โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบคำสั่งของกรมบัญชีกลางและให้โจทก์เรียกเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยได้รับส่งคืนคลัง จึงเป็นกรณีที่กรมบัญชีกลางได้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ โดยให้มีผลย้อนหลังการคืนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่จำเลยผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไปตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยคืนเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามคำขอได้หรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดเพียงใด นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งไม่เบิกเงิน ช.ค.บ. ที่ปรับเพิ่มและคำสั่งงดจ่ายเงิน ช.ค.บ. ที่จำเลยเคยได้รับเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่เพียงใด ซึ่งจะต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยเฉพาะ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน โจทก์ นางนวลศรี ศรีแก้ว จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share