แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออก น.ส.ล. ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. เฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่หนองน้ำโดยธรรมชาติซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และการออก น.ส.ล. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก น.ส.ล. ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีอันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาท เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔๐/๒๕๕๗
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดทุ่งสง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ นางเจียน พรหมหมอเฒ่า ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๖/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินจำนวน ๒ แปลง ตั้งอยู่ที่ บ้านไสยูงปัก หมู่ที่ ๑๐ ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้มาโดยการยกให้จากบิดามารดาและได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมา โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และในปี ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออก น.ส.ล. เลขที่ นศ ๑๑๗๖ ที่ดินเลขที่ ๖๕ ระวาง ๔๘๒๕ I ๕๔๑๔-๓ เพื่อแสดงแนวเขตของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (หนองสาธารณประโยชน์) เนื้อที่ประมาณ ๑๖ ไร่ ๒๔ ตารางวา ทับที่ดินทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ น.ส.ล. ดังกล่าวออกตามระวางรูปถ่ายทางอากาศซึ่งใช้ในการออก น.ส. ๓ ก.ทั้งประเทศในปี ๒๕๒๖ โดยไม่มีการเดินสำรวจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงจึงได้รวมเอาที่ดินทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดีเข้าไปด้วย ซึ่งความเป็นจริงที่ดินพิพาทเป็นที่ดอนสูงกว่าหนองน้ำและไม่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง บิดาของผู้ฟ้องคดีได้เคยทักท้วงแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับรองแนวเขตข้างเคียงในการรังวัดออก น.ส.ล. ในปี ๒๕๔๖ ยังไม่มีการปักหลักเขตที่แน่ชัด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตได้และไม่ทราบเรื่องการปิดประกาศการออก น.ส.ล. แต่อย่างใด และในปี ๒๕๕๖ ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง ให้ผู้ฟ้องคดีไปใช้สิทธิทางศาลต่อไป ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ นศ ๑๑๗๖ เฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นหนองน้ำ ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ เมื่อปี ๒๕๒๖ และปี ๒๕๔๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการเดินสำรวจออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินในบริเวณดังกล่าวและได้มีการกันเขตหนองน้ำตามขอบเขตที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านและในการออก น.ส.ล. เลขที่ นศ ๑๑๗๖ ผู้ฟ้องคดีได้ร่วมระวังชี้แนวเขตที่ดินและลงนามรับรองเขตด้วยตนเอง ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่หนองน้ำโดยธรรมชาติซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และการออก น.ส.ล. เลขที่ นศ ๑๑๗๖ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้การออก น.ส.ล. เป็นการแสดงเขตที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และต้องดำเนินการ ตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกับกฎกระทรวง การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ออก น.ส.ล. ทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. เฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นปัญหาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นย่อยในประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า การออก น.ส.ล. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และการออก น.ส.ล. จะเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่เป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินจำนวน ๒ แปลง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออก น.ส.ล. ทับที่ดินทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ นศ ๑๑๗๖ เฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่หนองน้ำโดยธรรมชาติซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และการออก น.ส.ล. เลขที่ นศ ๑๑๗๖ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก น.ส.ล. ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางเจียน พรหมหมอเฒ่า ผู้ฟ้องคดี กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ