แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเครื่องรับโทรทัศน์ และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป ซึ่งการขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมา แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้คำขอบังคับจะเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 คืนเครื่องรับโทรทัศน์หรือใช้ราคาเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีอาญาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น มาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาเช่าซื้อเมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างประกอบกับคำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องการผิดสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะพนักงานอัยการในคดีอาญาจึงไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องสัญญาเช่าซื้อมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้กรณีมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
คดีก่อนศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สีไปจากโจทก์ 1เครื่อง จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 7,900 บาท ที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 2,666 บาท รวม 24 เดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 2 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระอีก 22 งวด เป็นเงิน 58,652 บาท ทำให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันโดยโจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเครื่องรับโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 58,652 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า ราคาที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เช่าซื้อมีมูลค่าเพียง 20,000 บาท แต่โจทก์ได้รวมดอกเบี้ยและภาษีเข้าไปในราคาทรัพย์สินที่แท้จริงออกมาเป็นค่าเช่าซื้อ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินดาว์นและค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 13,372 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 6,628 บาท เท่านั้น นอกจากนี้ที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ขอให้ศาลพิพากษาปรับลดลงด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเครื่องรับโทรทัศน์สีหมายเลขประจำเครื่อง 1500013 หมายเลขประจำโครง BA 2719787 ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 58,652บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มิถุนายน2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) ปรากฎว่าข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2540 พนักงานอัยการประจำศาลแขวงเชียงใหม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ข้อหายักยอกเครื่องรับโทรทัศน์สีของโจทก์ในคดีนี้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน58,652 บาท ปรากฎตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2660/2540 ของศาลแขวงเชียงใหม่ ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงเชียงใหม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 เครื่องรับโทรทัศน์สีและเงินจำนวนตามคำขอเป็นรายเดียวกัน เห็นว่า แม้พนักงานอัยการประจำศาลแขวงเชียงใหม่จะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเครื่องรับโทรทัศน์สี และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญาแม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สี ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันอันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่งถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยที่ 1 คืนเครื่องรับโทรทัศน์สีหรือใช้ราคา แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น มิได้เป็นอย่างเดียวกันในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น เป็นที่เห็นได้ว่ามาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาเช่าซื้อในเมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างเช่นนี้ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ กรณีของการผิดสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาเช่าซื้อมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันในความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อีกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อเห็นว่า หนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ข้อ 2 ระบุว่า ขาย โอน จำนอง จำนำ แลกเปลี่ยน และจำหน่ายทรัพย์สินโดยประการอื่น และข้อ 8 ระบุว่า ประกอบกิจการค้า เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องมือกล เครื่องทุนแรงยานพาหนะ เครื่องกำเนิดและเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ การที่โจทก์ให้เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สีอันเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินโดยประการอื่นและเป็นการประกอบกิจการค้าตามความหมายในหนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ข้อ 2 และข้อ 8 จึงเป็นการกระทำซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งคดีอาญานั้นศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาคดีไปแล้ว คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา เห็นว่า คดีดังกล่าวศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1ฐานยักยอกทรัพย์ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน