คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พวกจำเลยล้อมรถขายไอศกรีม ของผู้เสียหายไว้ จำเลยที่ 3 เข้าต่อรองราคา แม้จะเป็นราคาที่อาจรู้ว่าผู้เสียหาย ไม่ตกลงด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหาย การล้อมรถโดยไม่ปรากฏว่ามีท่าทางว่า จะเข้ามาทำร้ายผู้เสียหาย เพียงแต่ยืนจับกลุ่มกันอยู่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นการใช้พวกเข้าขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายยอมจะให้ทรัพย์แก่พวกจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ จำเลยที่ 3 เจ้ามาขอซื้อไอศกรีม 7-8 แท่ง ในราคา 1 บาท จนผู้เสียหายไม่พอใจและชักอาวุธออกมา จำเลยทั้งสาม จึงกลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายชักอาวุธออกมา มิใช่เพราะเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อไอศกรีม ของผู้เสียหายแต่แรก ทั้งยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 หยิบเอาไอศกรีม ไปแจกจ่ายพวกจำเลย ประกอบกับ หลังจากนั้น โจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกัน ลักเอาไอศกรีม ดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดทำร้ายร่างกาย ผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่ามีรอยบวมเล็กน้อยที่ขมับด้านซ้าย บาดแผลรักษาหายภายใน3 วัน เป็นความเป็นผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 340, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 ให้จำเลยร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ 50 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคแรก ลงโทษจำคุกคนละ 10 ปี ให้จำเลยทั้งสามใช้ราคาทรัพย์ 50 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391, 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละหนึ่งเดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าวันเกิดเหตุผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์บรรทุกตู้ไอศกรีมเร่ขายตามหมู่บ้านเมื่อมาถึงหมู่บ้านหินลาดซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายถูกคนร้ายประมาณ 10 คน ชกต่อยประทุษร้ายร่างกายและไอศกรีมของผู้เสียหายจำนวน 50 แท่ง ราคา 50 บาทหายไป มีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสามจะเป็นคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีพยานคือผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 3 เข้ามาขอซื้อไอศกรีม 7-8 แท่ง ในราคา 1 บาท ผู้เสียหายว่าขาดทุนขายไม่ได้ จำเลยที่ 3 ได้ล้วงเอาไอศกรีมจากตู้ออกมาแจกพรรคพวกประมาณ 10 แท่ง จำเลยที่ 1 จะมาขอกินไอศกรีมฟรี ผู้เสียหายไม่ให้ จำเลยที่ 1 ใช้มือตบหน้าผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงชักเหล็กแหลมออกมาถือไว้ จำเลยที่ 3 เตะมือผู้เสียหายจนเหล็กแหลมหลุดหล่น ไปที่พื้น แล้วจำเลยทั้งสามรุมชกต่อยผู้เสียหายแต่ผู้เสียหายกลับตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ต่อราคาไอศกรีม แล้ว ผู้เสียหายไม่พอใจและชักเหล็กแหลมออกมา กลุ่มคนที่รุมล้อมได้รุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งบริเวณเกิดเหตุเป็นลานบ้านมีบริเวณกว้าง มีบ้านล้อมรอบและมีคนพลุกพล่าน ผู้เสียหายเคยนำไอศกรีม ไปเร่ ขายในหมู่บ้านที่เกิดเหตุมาก่อนแล้ว วันเกิดเหตุผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 3ขอซื้อไอศกรีม แต่ผู้เสียหายไม่ยอมขาย จำเลยที่ 3 หยิบไอศกรีมออกมาแจกพรรคพวกนั้นคงมีแต่คำของผู้เสียหายเพียงปากเดียวเท่านั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเมื่อนายหัสดี ลมพัดเรียกรถไอศกรีมของผู้เสียหายเข้ามาเพื่อจะซื้อกิน พอรถจอดตรงที่จำเลยที่ 3 กับพวกยืนคุยกัน นายหัสดสีเป็นคนแรกที่เดินออกมาซื้อไอศกรีม แล้วจำเลยที่ 3 เข้าไปจะซื้อบ้างแต่ไม่ให้เงินและถามผู้เสียหายว่าบาทละ 2, 3 แท่งได้ไหม ผู้เสียหายพูดว่าไม่ได้ จำเลยที่ 3 ไม่ฟังและล้วงตู้ไอศกรีม จะหยิบไอศกรีมผู้เสียหายชักมีดออกมาจะแทง จำเลยที่ 3 จึงถอยออกไปแล้วนายเครื่องได้เข้าไปแย่งมีดจากผู้เสียหายแล้วชกผู้เสียหาย คนอื่นจึงได้ร่วมกันเข้าไปรุมชกต่อยผู้เสียหาย ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งนางบุญเพ็ง เพียรภายจุนพยานโจทก์ ว่าเห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกอีกหลายคนตีกับคนขายไอศกรีม ลักษณะชุลมุนทำร้ายกันที่บริเวณลานบ้าน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ต่อรองราคาไอศกรีมจนผู้เสียหายไม่พอใจและชักอาวุธขึ้นมา จำเลยทั้งสามจึงกลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายชักอาวุธออกมา หาใช่เพราะเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อไอศกรีม ของผู้เสียหายแต่แรกไม่ ส่วนไอศกรีมของผู้เสียหายนั้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 หยิบเอาไอศกรีม ไปแจกจ่ายพวกจำเลยและหลังจากที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายแล้ว ก็ไม่มีพยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาไป จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย และเมื่อพิเคราะห์บาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของนายแพทย์ผู้ตรวจ ได้ตรวจและมีความเห็นว่ามีรอยบวมเล็กน้อยที่ขมับด้านซ้าย บาดแผลรักษาหายภายใน 3 วันการกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้นชอบแล้ว ส่วนความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น เห็นว่าได้ความจากผู้เสียหายเพียงว่า พวกจำเลยยืนจับกลุ่มอยู่ขณะผู้เสียหายนำไอศกรีม เข้าไปขาย พวกจำเลยเข้ามาล้อมรถผู้เสียหายไว้แล้วจำเลยที่ 3 เข้ามาต่อรองราคา เพียงเท่านี้ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เพียงแต่เข้ามาต่อรองราคาไอศกรีม เท่านั้น แม้จะเป็นราคาที่อาจรู้ว่าผู้เสียหายไม่ตกลงด้วย ก็หาใช่เป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหายไม่ แม้การที่พวกจำเลยเข้ามาล้อมรถก็ไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยมีท่าทางจะเข้ามาทำร้ายผู้เสียหายอยู่แต่ก่อน ทั้งเป็นการยืนจับกลุ่มกันมาแต่แรก ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้พวกเข้าขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายยอมจะให้ทรัพย์แก่พวกจำเลยกระทำของจำเลยทั้งสามยังไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์และไม่อาจให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าของได้ แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ 50 บาท แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share