แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมตุลาการ
ย่อสั้น
เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหากบุคคลใดประสงค์จะขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนโจทก์กระทำได้โดยยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเดิม แต่ถ้าจะฟ้องโจทก์แยกต่างหากจากคดีเดิมโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727ก็ย่อมกระทำได้ ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเดิมก่อนการปัน มรดก เสร็จสิ้นลงเท่านั้น หาได้ตัดสิทธิมิให้ผู้ขอไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกต่างหากไม่ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกแทนโจทก์ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์โจทก์จึงไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกต่อไป จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้จัดการมรดกได้ทำตามมติที่ประชุมทายาทโดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เป็นการจัดการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายนิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายรอด มงคลชาติตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 52/2528 ต่อมานายสมคิดมงคลชาติ ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอด แต่แม้ศาลจะพิพากษาถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอด และตั้งนายสมคิดเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม ก็ไม่ลบล้างคำสั่งเดิมเพราะนายสมคิดไม่ได้ร้องขอเข้ามาในคดีเดิมโจทก์ยังคงเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ผู้เดียวนายสมคิดไม่มีอำนาจจัดการมรดกรายนี้ นายสมคิดได้สมรู้กับจำเลยทำสัญญาขายที่ดิน น.ส.3 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายรอดให้แก่จำเลยโดยไม่มีอำนาจ โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายรอดจึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ขอให้เพิกถอนรายการทะเบียนในน.ส.3 ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 385/2528 ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของนายรอด คงเป็นเพียงทายาทผู้หนึ่งเท่านั้น จำเลยประมูลซื้อขายในที่ประชุมทายาทโดยเปิดเผย สุจริต และเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ซื้อขายโดยชอบด้วยกฎหมายจากผู้จัดการมรดกของนายรอดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์ยังเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่..เห็นว่าเดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตายซึ่งตามปกติหากนายสมคิดประสงค์จะขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนโจทก์ก็ย่อมกระทำได้โดยยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเดิม อย่างไรก็ตามถ้านายสมคิดประสงค์จะฟ้องโจทก์แยกต่างหากจากคดีเดิม โดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727 ก็ย่อมกระทำได้ ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นแต่ให้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเดิมก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นลงเท่านั้นหาได้ตัดสิทธิมิให้ผู้ขอไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกต่างหากไม่ ดังนั้นเมื่อในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 385/2528 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอด และตั้งนายสมคิดเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดแทนโจทก์ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ในการเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดย่อมสิ้นสุดลง โจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกของนายรอดตามกฎหมายต่อไป จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์ในฐานะทายาทของนายรอดมิได้มอบอำนาจให้นายสมคิดทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยนิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนใน น.ส.3 ตามฟ้องได้นั้น เห็นว่ากรณีนี้เป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก การที่นายสมคิดทำตามมติที่ประชุมทายาทโดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยจึงเป็นการจัดการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายรอด หาจำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนไม่นิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนใน น.ส.3 ตามฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2515 ที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงนั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน.