คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6629/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่แนบมาท้ายฟ้อง แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตามแต่ก็เป็นเพียงรายละเอียดแห่งคำฟ้องเท่านั้น มิใช่สภาพแห่งข้อหาในคำฟ้องอันจะต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคหนึ่ง การที่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุว่ามอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก โดยมิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมแต่ประการใดไม่ เพราะตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งรับสิทธิจากเจ้าของรถผู้เอาประภันภัยฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดจำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว และที่หนังสือมอบอำนาจระบุให้ฟ้องจำเลยที่ 1กับพวก ก็ย่อมหมายถึงมอบอำนาจให้ฟ้องผู้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับจำเลยที่ 3มีข้อตกลงว่าหากผู้เอารถไปใช้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันนี้ไปทำละเมิดต่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 47,585 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ยืมรถไปใช้เป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามเอกสารท้ายฟ้องได้ระบุตัวผู้ถูกฟ้องไว้ว่าจำเลยที่ 1กับพวก แต่ไม่ระบุว่ากับพวกนั้นเป็นใครบ้าง จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงไม่ทราบทำให้หลงต่อสู้เป็นฟ้องเคลือบคลุมเหตุเกิดจากความประมาทของนายอุดม วิวัฒผล คนขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้แต่เพียงผู้เดียวที่ขับไปชนท้ายรถยนต์ ข้างหน้า2 คัน รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมากำลังชะลอความเร็วและจะหยุดได้ไหลไปกระแทกรถยนต์ของฝ่ายโจทก์ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดก็เฉพาะส่วนท้ายรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายส่วนหน้าของรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 47,585 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสามในเรื่องอำนาจฟ้องและเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3นอกจากนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาว่า คดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้นายสมชาย ชัยวงศ์ณรงค์ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องซึ่งมีข้อความระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 6 ข-6662กรุงเทพมหานคร ไว้จากเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 5 จ-2170 กรุงเทพมหานครซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 มีข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัยว่า หากผู้เอารถไปใช้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดด้วยตามวันเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 จ-2170กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อไปชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ข-6662 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปชนรถยนต์ที่อยู่ข้างหน้าอีก 2 คัน ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันได้รับความเสียหายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทั้งนี้โดยผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วยโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้นำรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ไปจัดการซ่อมเสียเงินค่าซ่อมและค่าลากรถเป็นเงินรวม 47,585 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากเจ้าของรถผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวไม่ได้ระบุถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อยู่ในสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับที่จะต้องร่วมรับผิดด้วย คำฟ้องของโจทก์จึงไม่แจ้งชัด ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลงข้อต่อสู้เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่แนบมาท้ายฟ้อง แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงรายละเอียดแห่งคำฟ้องเท่านั้นมิใช่สภาพแห่งข้อหาในคำฟ้องอันจะต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคแรก การที่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุว่ามอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวก โดยมิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมแต่ประการใดไม่ เพราะตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งรับสิทธิจากเจ้าของรถผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดจำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว และที่หนังสือมอบอำนาจระบุให้ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกก็ย่อมหมายถึงมอบอำนาจให้ฟ้องผู้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประภันภัย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจากจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับจำเลยที่ 3 มีข้อตกลงว่าหากผู้เอารถไปใช้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่ไปทำละเมิดต่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัย จึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
พิพากษายืน

Share