คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปรับเงินดังกล่าว ฝ่ายจำเลยจึงนำเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปฝากธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดในวันที่ 10 มิถุนาน 2540 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์ทั้งสองโดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 10 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 11 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 21,713,379.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 19,420,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนโดยใช้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว จำเลยทั้งสองยังมิได้ผิดนัดจะเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในแต่ละช่วงเวลา นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 8,242,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ศาลละ 200,000 บาท รวม 400,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13103 ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 71 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 70.20 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามตารางวาละ 20,000 บาท โจทก์ทั้งสองไม่พอใจยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่รัฐมนตรีฯ ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยยืนตามอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว ซึ่งรัฐมนตรีฯ เห็นชอบด้วย ต่อมาศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน แต่วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงให้แก่โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 5,000 บาท ในเนื้อที่ 3 งาน 0.80 ตารางวา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 10,000 บาท เป็นตารางวาละ 30,000 บาท ส่วนเงินค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่เหลือจากการเวนคืนอัตราราคาลดลงตารางวาละ 5,000 บาท นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 70.20 ตารางวา ในอัตราตารางวาละเท่าใด โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีกตารางวาละ 10,000 บาท เป็นตารางวาละ 40,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 20,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว จึงเห็นสมควรพิจารณาไปพร้อมกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม และวรรคสองบัญญัติว่าถ้าการงานหรือกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีก ดังนั้น ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจึงต้องพิจารณาตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ประกอบกันได้ความตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ส่วนราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็ต่ำกว่าปกติมาก เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ก็มีมติยืนตามอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นประการสำคัญซึ่งยังคำนึงไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ที่บัญญัติให้คำนึงถึงทุกเหตุประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งในคดีนี้ได้แก่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 นั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะนำสืบถึงราคาซื้อขายที่ดินของธนาคารที่ดินของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองประมาณ 100 เมตร มีราคาซื้อขายที่ดินเฉลี่ยตารางวาละ 60,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.12 ที่ดินของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองประมาณ 150 เมตร ซื้อมาจากบริษัทชฎาทอง จำกัด ในราคา 15,000,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 ที่ดินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อยู่ตรงข้ามกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ห่างกันประมาณ 200 เมตร ซื้อมาจากนางเง็กลั้งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 เนื้อที่ 190 ตารางวา ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ในราคา 16,000,000 บาท เฉลี่ยตารางวาละ 85,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.31 และ จ.32 ซึ่งเป็นการซื้อมาเพื่อตั้งสำนักงานสาขา อันเป็นธุรกิจแสวงหาผลกำไรย่อมเลือกทำเลที่ตั้งที่ดี จึงยอมลงทุนซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดก็ตาม แต่ก็พอแสดงให้เห็นได้ว่า ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินในบริเวณนี้น่าจะสูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2539 ถึงปี 2542 ดังที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ อย่างไรก็ดี นางจุฑารัตน์ พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 42623 ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของพยาน ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของพยานในอัตราตารางวาละ 40,000 บาท พยานไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการคมนาคม ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้พยานอีกตารางวาละ 40,000 บาท เป็นตารางวาละ 80,000 บาท ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.9 นายทนงศักดิ์ พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ที่ดินของพยานอยู่ในแนวเดียวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองห่างกันประมาร 8 เมตร มีที่ดินของนางจุฑารัตน์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่พยานตารางวาละ 40,000 บาท พยานไม่พอใจ จึงยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินอีกตารางวาละ 40,000 บาท เป็นตารางวาละ 80,000 บาท ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.15 เห็นว่า แม้ที่ดินของนางจุฑารัตน์และนายทนงศักดิ์จะเป็นที่ดินแปลงเล็ก แต่ก็อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แม้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินตามราคาประเมินที่ดินเป็นรายแปลง แต่อัตราเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไม่น่าจะสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถึง 4 เท่าตัว เพราะสภาพและทำเลที่ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพเช่นเดียวกัน แม้ว่าภายหลังการเวนคืนโจทก์ทั้งสองยังมีที่ดินเหลืออีก 1 งาน 0.80 ตารางวา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือเป็นรูปสามเหลี่ยมฐานโค้ง ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.12 โดยส่วนฐานนั้นอยู่ติดกับทางโค้งย่อมทำให้ศักยภาพของที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนี้ด้อยลง ด้วยเหตุนี้ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจึงไม่สูงขึ้นดังที่ฝ่ายจำเลยอ้าง เมื่อคำนวณถึงเหตุผลประกอบข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกตารางวาละ 10,000 บาท เป็นตารางวาละ 30,000 บาท นั้น ยังต่ำไป ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ทั้งสองที่เหมาะสมและเป็นธรรมควรเป็นตารางวาละ 40,000 บาท เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดราคาให้อีกตารางวาละ 20,000 บาท เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 70.20 ตารางวา เป็นเงิน 13,404,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ฝ่ายจำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 ตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.25 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปรับเงินดังกล่าว ฝ่ายจำเลยจึงนำเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปฝากธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 โจทก์ทั้งสองจึงไปรับเงินจากธนาคาร ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.17 ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์ทั้งสองโดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 10 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 11 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาคณะปกครองย่อมหยิบขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเพิ่มอีก 14,908,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share