แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม เมื่อได้ความว่าฝ่ายจำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 10 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 11 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวาเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนั้นตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้ขั้นต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 65,956,203.36 บาท เงินค่าทดแทนค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนที่จำเลยที่ 1 กำหนดในขั้นต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,285,932.48 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจและจิตใจเป็นเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดนัดจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย ฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,724,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม พันเอกขจรจักร และนายปฏิพัฒน์ ผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 49051 ตำบลปรุใหญ่ (ตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 681 ตารางวา ซึ่งที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 6,000 บาท คิดเป็นเงิน 4,086,000 บาท กับกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง 7 หลังและต้นไม้เป็นเงินรวม 1,934,121 บาท โจทก์ไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่รัฐมนตรีฯ ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นเพิ่มเฉพาะเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 10,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตั้งแต่เมื่อใดนั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่าคดีนี้ศาลวินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้น จำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษามิใช่วันที่ฝ่ายจำเลยวางเงินค่าทดแทนที่ดินนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย” มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม เมื่อได้ความว่า ฝ่ายจำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันนัดจากวันที่ 10 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 11 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนั้นแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยนำเงินไปฝากธนาคารออมสิน สาขาสุรนารีในนามของโจทก์ โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งแต่อย่างใด นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองอยู่แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสอง ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ