คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนซึ่งปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองตกลงยอมรับเงินดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงยินยอมระหว่างผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมาฯ ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2540 อันถือว่าวันที่ทำสัญญาซื้อขายคือวันที่ 1 เมษายน 2540 ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,807,057.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของต้นเงิน 5,112,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,272,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 7,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42628 ตำบลปรุใหญ่ (ตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 142 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวถูกเวนคืนทั้งหมด คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 32,000 บาท โจทก์ทั้งสองไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มีมติให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นตารางวาละ 64,000 บาท จำเลยที่ 2 เห็นชอบด้วย ต่อมาศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกตารางวาละ 16,000 บาท เป็นตารางวาละ 80,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่เมื่อใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คือวันที่ 30 กันยายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย” และในมาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” จากบทบัญญัติดังกล่าวจำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทกทั้งสองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินก็ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยสำหรับค่าทดแทนเพิ่มนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน ได้ความจากนายเสน่ห์ เจ้าหน้าที่จัดหาที่ดิน 7 สำนักงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง พยานจำเลยทั้งสองว่า หลังจากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนซึ่งปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองตกลงยอมรับเงินดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงยินยอมระหว่างผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2540 เอกสารหมาย ล.10 และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.11 อันถือว่าวันที่ทำสัญญาซื้อขายคือวันที่ 1 เมษายน 2540 ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันดังกล่าว วันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยจึงเริ่มตั้งแต่วันที่ครบกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน คือวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 แต่คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2542 โดยที่โจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเพิ่มอีก 284,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและนับตั้งแต่วันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share