คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

1. โจทก์เอาประกันชีวิตลูกจ้างซึ่งขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของโจทก์นั้นเห็นได้ว่าจะต้องรับผิดต่อการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของลูกจ้าง และยังต้องรับผิดจ่ายเงินให้แก่ทายาทผู้อยู่ใต้อุปการะของลูกจ้างผู้ตายตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ประกอบกับการขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันย่อมต้องอาศัยบุคคลที่มีความชำนาญและไว้วางใจ เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันชีวิตลูกจ้างดังกล่าวนี้ได้
2. สัญญาประกันอุบัติเหตุของบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตถือว่าเป็นสัญญาประกันชีวิต เพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขการใช้เงินตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889
3. สัญญาประกันชีวิตมิใช่สัญญาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังเช่นสัญญาประกันวินาศภัย แต่เป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใจใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่งฉะนั้น เมื่อโจทก์นายจ้างเอาประกันชีวิตของลูกจ้างในกรณีอุบัติเหตุไว้กับจำเลยเป็นจำนวนเงินหนึ่งแสนบาท โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และลูกจ้างที่ระบุในกรมธรรม์ได้ประสพอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตระหว่างอายุสัญญา จำเลยก็ต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามเงื่อนไขแห่งสัญญา
(ข้อ 1 และ 3 วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 34/2515)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ได้ตกลงทำสัญญาประกันอุบัติเหตุพนักงานขับรถของโจทก์หลายคนไว้กับจำเลยนายเนื่อง รอดชัยภูมิ เป็นพนักงานขับรถของโจทก์ผู้หนึ่งที่ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้ โดยได้ทำบันทึกตกลงให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว ในสัญญาประกันภัยนี้ได้มีข้อสัญญาว่าถ้านายเนื่อง รอดชัยภูมิหรือพนักงานขับรถของโจทก์คนหนึ่งคนใดที่ทำสัญญาประกันภัยไว้นั้นถึงแก่ความตายในระหว่างวันที่ ๘ สิงหาคม๒๕๑๐ ถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๑ จำเลยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำนวนเงินหนึ่งแสนบาทถ้วน ครั้นวันที่ ๑๑กรกฎาคม ๒๕๑๑ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายเนื่องรอดชัยภูมิ ได้ขับรถบรรทุกน้ำมันกลับจากอุดรธานี ได้เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ นายเนื่อง รอดชัยภูมิ ถึงแก่ความตายโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยจำนวนหนึ่งแสนบาทตามสัญญาโจทก์ทวงถาม จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ตามสัญญาขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้เงินตามสัญญาและดอกเบี้ย
จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด โจทก์ไม่ใช้ผู้ได้รับความเสียหายหากโจทก์ต้องการเรียกค่าเสียหายสำหรับโจทก์เอง ความเสียหายหากโจทก์จะได้รับเนื่องจากลูกจ้างโจทก์ตาย ก็มีเพียงเงินค่าทดแทนและค่าทำศพซึ่งโจทก์นายจ้างจะต้องชำระให้แก่ทายาทผู้อยู่ใต้อุปการะของนายเนื่องตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ซึ่งจะเป็นเงินไม่เกินห้าหมื่นบาทโจทก์มีเจตนาไม่สุจริต โจทก์รู้ดีว่าตนไม่มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนได้เสียน้อยกว่าหนึ่งแสนบาท ที่นำชีวิตของลูกจ้างของตนมาประกันภัยไว้กับจำเลยเป็นจำนวนถึงคนละหนึ่งแสนบาท โจทก์มีเจตนาที่จะทำการพนันขันต่อกับจำเลยโดยใช้ชีวิตของลูกจ้างโจทก์เป็นเครื่องเดิมพัน สัญญาประกันภัยเป็นโมฆะ หากจะฟังว่าสัญญาสมบูรณ์ จำเลยก็รับผิดเพียง ๓,๐๐๐ บาท
ในวันนัดชี้สองสถาน จำเลยสละข้อต่อสู้อื่น คงติดใจสู้เพียง ๒ ประเด็นคือ สัญญาเป็นโมฆะ และหากจะฟังว่าสมบูรณ์ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินหนึ่งแสนบาท คงต้องผิดตามที่โจทก์เสียหายจริงคือ ๓,๐๐๐ บาทเท่านั้น
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนได้เสียที่จะทำสัญญาประกันภัยชีวิตนายเนื่องลูกจ้างโจทก์ได้ จำนวนเงินหนึ่งแสนบาทอันเป็นราคาแห่งมูลประกันภัย โดยลักษณะหาใช่เป็นค่าสินไหมทดแทนไม่ เพราะไม่ใช่เป็นการประกันวินาศภัย หากแต่เป็นการตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งในเหตุแห่งการตาย กำหนดกันไว้เท่าใดก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะนำสืบอย่างอื่นไม่ได้ สัญญาประกันอุบัติเหตุในเรื่องการตายอันเป็นลักษณะเกี่ยวกับสัญญาประกันชีวิตไม่มีบทบัญญัติทำนองมาตรา ๘๗๔, ๘๗๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนายจ้างของนายเนื่อง รอดชัยภูมิซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันของโจทก์ โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุที่จะเกิดแก่นายเนื่องลูกจ้างไว้กับจำเลย ตามสำเนากรมธรรม์ท้ายฟ้องซึ่งระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมานายเนื่องลูกจ้างโจทก์ได้ประสพอุบัติเหตุรถบรรทุกน้ำมันที่ขับคว่ำ และนายเนื่องถึงแก่ความตาย ตามข้อสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินหนึ่งแสนบาทให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้
ในข้อที่ควรพิจารณาประการแรก คือ สัญญาประกันภัยรายพิพาทนี้เป็นโมฆะหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นนายจ้าง นายเนื่องเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันให้โจทก์ และอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นในระหว่างอายุสัญญาจ้างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างในกรณีเช่นนี้มีความรับผิดตามกฎหมายที่เห็นอยู่ชัด ๆสองประการ ประการแรกคือ ความรับผิดของนายจ้างต่อความละเมิดในทางการที่จ้างของลูกจ้างและอีกประการหนึ่งคือความรับผิดของนายจ้างที่จะต้องจ่ายแก่ทายาทผู้อยู่ใต้อุปการะลูกจ้างผู้ตาย ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙นอกจากนั้นรถบรรทุกน้ำมันของโจทก์ย่อมจะมีราคาไม่ใช่น้อย โจทก์จะต้องใช้บุคคลที่มีความชำนิชำนาญและไว้วางใจไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะมาขับรถบรรทุกน้ำมันกันได้ทั้งนั้น เมื่อรวมเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามความหมายในมาตรา ๘๖๓ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เมื่อโจทก์มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายเนื่องลูกจ้างดังกล่าว การประกันภัยรายพิพาทนี้จึงไม่ใช่การพนันขันต่อและหาเป็นโมฆะไม่
ฎีกาของจำเลยที่ว่า สัญญาประกันภัยรายพิพาทเป็นสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุของบุคคลซึ่งเป็นสัญญาประกันวินาศภัย จำเลยจึงอาจนำสืบเพื่อลดราคามูลประกันภัยและนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยได้รับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๗๔และ ๘๗๗ ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาประกันภัยรายพิพาทใช้ชื่อว่า”กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของบุคคล” ในสัญญากำหนดไว้เป็นอย่าง ๆคือ เกิดอุบัติเหตุไม่ถึงแก่ความตาย เช่น เสียตา มือ เท้า ฯลฯก็ให้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง ถ้าอุบัติเหตุถึงตาย ก็ให้ค่าสินไหมทดแทนหนึ่งแสนบาท สภาพเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต คือ บุคคลผู้ถูกเอาประกันถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะถือได้ว่าความมรณะของบุคคลนั้นเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินจำนวนหนึ่งตามความหมายในมาตรา ๘๘๙ นั่นเอง
ปัญหาคงเหลือว่า ในสัญญาเอาประกันชีวิตบุคคลอื่นนั้น ผู้เอาประกันภัยจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยใช้เงินจำนวนที่เอาประกันภัยไว้เต็มตามสัญญาโดยไม่จำต้องพิจารณาถึงมูลค่าแห่งส่วนได้เสียที่ผู้เอาประกันภัยมีต่อเจ้าของชีวิตซึ่งกำหนดเป็นเงื่อนไขการใช้เงินหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าถ้าสัญญาประกันภัยรายพิพาทเป็นสัญญาประกันวินาศภัยแล้ว จำเลยผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะพิสูจน์ค่าสินไหมทดแทนเพื่อรับผิดในจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงตามมาตรา ๘๗๗ ทั้งนี้เพราะสัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาชดใช้ค่าเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจะค้ากำไรจากสัญญาประกันวินาศภัยหาได้ไม่ แต่ถ้าสัญญาประกันภัยรายพิพาทเป็นสัญญาประกันชีวิตแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวหาได้นำมาใช้แก่สัญญาประกันชีวิตไม่เพราะสัญญาประกันชีวิตมิใช่สัญญาชดใช้ความเสียหาย เมื่อกำหนดเงินไว้เท่าใด ก็ต้องจ่ายตามจำนวนนั้น เมื่อสัญญาประกันภัยรายพิพาทเป็นสัญญาประกันชีวิตและโจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวมาแล้วข้างต้นสัญญารายพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ทุกประการ เมื่อนายเนื่องลูกจ้างโจทก์ถึงแก่ความตายโดยอุบัติเหตุในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย จำเลยก็ต้องจ่ายเงินหนึ่งแสนบาทให้โจทก์ตามเงื่อนไขในสัญญา จำเลยจะขอนำสืบถึงค่าเสียหายอันแท้จริงในสัญญาประกันชีวิตหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share