คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18520/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันตรวจพยานหลักฐาน ศาลบันทึกไว้เพียงว่า เอกสารดังกล่าวให้ทนายจำเลยดูแล้วโดยไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ. 10 ว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน คงแถลงรับข้อเท็จจริงว่าพันตำรวจโท ป. เป็นพนักงานสอบสวนจริงและทำการสอบสวนโดยชอบเท่านั้น ดังนั้นจำเลยจึงมิได้แถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนในขณะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แม้โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำชำเราเด็กโดยมีอาวุธปืนด้วยก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนว่าจำเลยมีอาวุธปืนในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 284, 317, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหาพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร พาเด็กไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำชำเราเด็ก แต่มิได้กระทำโดยมีอาวุธปืน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา พันตรีวีระศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 701,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม, 371 พระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยมีอาวุธปืน ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยมีอาวุธปืนอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 4 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยมีอาวุธปืนและพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ประกอบมาตรา 78 คงจำคุกฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยมีอาวุธปืน 25 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร 2 ปี รวมจำคุก 27 ปี 14 เดือน ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม, 371 เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี และฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท คำรับสารภาพและทางนำสืบของจำเลยว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี รวมโทษฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเข้าด้วยแล้ว เป็นจำคุก 5 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องข้อหาความผิดอื่น และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนค่าฤชาธรรมเนียม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยพรากเด็กหญิง ว. ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ไปเสียจากพันตรีวีระศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาเพื่อการอนาจาร แล้วพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ห้องเลขที่ 206 อาคารเอสบี อพาร์ตเมนต์ เพื่อการอนาจาร จากนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้ชัดแจ้งเพื่อให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนติดตัวตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แม้โจทก์จะส่งผลการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนของจำเลย เอกสารหมาย จ.10 ต่อศาลในวันตรวจพยานหลักฐาน แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ศาลบันทึกไว้เพียงว่า เอกสารดังกล่าวให้ทนายจำเลยดูแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.10 ว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ส่วนที่จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2553 ก็ปรากฏว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าพันตำรวจโทปรีชาเป็นพนักงานสอบสวนผู้ทำการสรุปสำนวนการสอบสวนในคดีนี้จริง และทำการสอบสวนโดยชอบเท่านั้น จำเลยมิได้แถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.10 ดังนี้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยมีอาวุธปืนนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์เป็นที่น่าสงสัยว่า จำเลยเจตนามีอาวุธปืนในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยเท่ากับศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีอาวุธปืนในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนในขณะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แม้โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำชำเราเด็กโดยมีอาวุธปืนด้วยก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนว่าจำเลยมีอาวุธปืนในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share