แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 มาตรา 4 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 การที่จำเลยรับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างละ 1 ใบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยชูบัตรเลือกตั้งสองใบ พร้อมกับพูดว่า “ผมขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65” แล้วฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบทันทีในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 โดยขณะนั้นการเลือกตั้งยังมีผลในทางปฏิบัติอยู่ เมื่อจำเลยจงใจฉีกบัตรเลือกตั้งอันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุเป็นวันเลือกตั้งตามกฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งที่ดำเนินการให้มีการลงคะแนนโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็เป็นไปโดยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหาได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าว หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่ประการใดไม่ กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 65 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” แต่บทบัญญัติมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติในหมวดเดียวกันได้บัญญัติไว้ด้วยว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ดังนั้นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังกล่าวต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 มาตรา 4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป จำเลยไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ 4 หมู่ที่ 2 ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จำเลยได้รับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างละ 1 ใบ แล้วจำเลยฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและให้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 มาตรา 4 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 การที่จำเลยรับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างละ 1 ใบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยชูบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ พร้อมกับพูดว่า “ผมขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65” แล้วฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบทันทีในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 โดยขณะนั้นการเลือกตั้งยังมีผลในทางปฏิบัติอยู่ เมื่อจำเลยจงใจฉีกบัตรเลือกตั้งอันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุเป็นวันเลือกตั้งตามกฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งที่ดำเนินการให้มีการลงคะแนนโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็เป็นไปโดยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหาได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าว หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่ประการใดไม่ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยโดยผลของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดสำเร็จไปแล้ว
ส่วนการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 65 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” บทมาตรานี้บัญญัติไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ในหมวดเดียวกันนี้บัญญัติไว้ด้วยว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ดังนี้ การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายรวมถึงต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เมื่อจำเลยรับบัตรเลือกตั้งมาแล้วไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้จำเลยต้องลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง แต่กลับเปิดช่องทางให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแสดงเจตนาของตนว่าไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้อีกด้วย แม้จำเลยจะกาเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งจนเป็นบัตรเสียก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าเป็นความผิด การกระทำที่กล่าวถึงเป็นกรอบของกฎหมายที่ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไป การที่จำเลยจงใจฉีกบัตรเลือกตั้งซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ มิใช่เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ให้จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 5 ปี