แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1(ก)โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องทำบัญชีคุมสินค้าตามแบบที่อธิบดีกำหนด แสดงรายการปริมาณสินค้าที่มีอยู่ได้มา และจำหน่ายไปเป็นรายวัน ตามมาตรา83 ทวิ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 2) ลงวันที่1 พฤศจิกายน 2519 เมื่อโจทก์ไม่ทำบัญชีคุมสินค้าดังกล่าวกรณีจึงต้องด้วยมาตรา 79 ทวิ(6) ที่ให้ถือว่าสินค้าที่โจทก์มี โดยไม่ทำบัญชีคุมสินค้านั้นเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับที่จะต้องเสียภาษีการค้า ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ส่งสินค้าออกจากราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ โจทก์จึงไม่ใช่”ผู้ส่งออก” โจทก์คงมีฐานะเป็น “ผู้ผลิต” ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77 กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18)ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517 เนื่องจากโจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้ผลิต และสินค้าพิพาทเป็นเพียงสินค้าที่ผลิตเพื่อจะส่งออกเท่านั้น หาใช่สินค้าส่งออกไม่ กรณีของโจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำบัญชีคุมสินค้าตามมาตรา 83 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2521 ต้องเป็นกรณีที่ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องไม่ทำบัญชีคุมสินค้าตามที่กฎหมายบังคับไว้ซึ่งตามบทกฎหมายให้ถือว่าสินค้าที่โจทก์มี โดยไม่ทำบัญชีคุมสินค้านั้นเป็นการขายสินค้า จึงเป็นคนละกรณีกัน เจ้าพนักงานประเมินได้พิจารณาดำเนินการลดเบี้ยปรับให้แล้วคงเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์เพียงร้อยละห้าสิบเท่านั้น นับว่าเหมาะสมตามสภาพและพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว จึงไม่มีเหตุจะลดเบี้ยปรับให้น้อยลงอีก ส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายเมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในดุลพินิจของศาล จึงไม่อาจงดหรือลดลงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีการค้าโจทก์สำหรับเดือนมิถุนายน 2531 โดยอ้างว่าโจทก์ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1(ก) และมีสินค้าคงเหลือที่มิได้จัดทำบัญชีคุมสินค้าไว้ ซึ่งถือเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ(6)โจทก์เห็นว่าการประกอบการค้าของโจทก์ได้รับยกเว้นการทำบัญชีคุมสินค้าตามมาตรา 83 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กรณีนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 79 ทวิ(6) ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้า ให้จำเลยคืนเงินภาษีให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์ ให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีการค้าให้แก่โจทก์และคืนเบี้ยปรับเงินเพิ่มที่โจทก์ชำระไว้แล้วให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1 (ก) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีคุมสินค้าตามแบบที่อธิบดีกำหนด แสดงรายการปริมาณสินค้าที่มีอยู่ ได้มาและจำหน่ายไปเป็นรายวัน ตามความในมาตรา 83 ทวิวรรคแรกแห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1พฤศจิกายน 2519
ตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ส่งสินค้าออกจากราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ โจทก์จึงหาใช่”ผู้ส่งออก” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรตามที่โจทก์อ้างไม่ โจทก์คงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าที่เป็น “ผู้ผลิต” ตามนัยแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 77 เท่านั้นส่วนประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517 ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก โดยให้ถือว่าผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกได้ขายสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักรหรือวันส่งออกนอกราชอาณาจักร ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517 ก็เป็นเรื่องกำหนดหน้าที่ผู้เสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง จึงไม่เกี่ยวกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้ผลิต ทั้งไม่มีข้อความใดเข้าได้กับกรณีสินค้าพิพาทเนื่องจากสินค้าพิพาทยังเป็นเพียงสินค้าที่ผลิตเพื่อจะส่งออกเท่านั้น หาใช่เป็นสินค้าส่งออกไม่ดังนั้น กรณีของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 83 ทวิ วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีคุมสินค้าพิพาทตามมาตรา 83 ทวิ วรรคแรก ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 2) ลงวันที่1 พฤศจิกายน 2519 เมื่อฟังว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีคุมสินค้าพิพาทและโจทก์มิได้ทำบัญชีดังกล่าว กรณีจึงต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 79 ทวิ(6) ที่ว่า “ผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1…มีสินค้าโดยไม่ทำหรือไม่ลงบัญชีคุมสินค้า…” กฎหมายกำหนดให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับซึ่งหมายความว่าราคาสินค้าพิพาทให้ถือเป็นรายรับของโจทก์ที่จะต้องเสียภาษีการค้านั่นเอง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนข้ออ้างของโจทก์ตามอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2521 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ส่งสินค้าของโจทก์ออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น โจทก์จึงจะได้รับยกเว้นภาษีการค้า แต่สำหรับกรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ไม่จัดทำบัญชีคุมสินค้าตามที่กฎหมายบังคับไว้และให้ถือว่าเป็นการขายสินค้า จึงเป็นคนละกรณีกัน
เจ้าพนักงานประเมินได้พิจารณาดำเนินการลดเบี้ยปรับให้แล้วคงเรียกเก็บเบี้ยปรับจากโจทก์เพียงร้อยละห้าสิบเท่านั้นนับว่าเหมาะสมตามสภาพและพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว จึงไม่มีเหตุจะลดเบี้ยปรับให้น้อยลงอีก ส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายเมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในดุลพินิจของศาล จึงไม่อาจงดหรือลดลงได้
พิพากษายืน