คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลย 450,000 บาท แต่สิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 กำหนดให้เป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายที่ชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เท่านั้น ที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ โจทก์มิใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี จึงไม่มีสิทธิตามมาตรา 271 และโจทก์ไม่อาจเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายให้ไว้แก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับและคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่เป็นกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2542 ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542มาตรา 34 จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์จำนวนหนี้ขั้นต่ำที่อาจฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับดังกล่าวมาเปรียบเทียบและถือเป็นเหตุอันไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายในคดีนี้ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2529 เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรท้องที่จังหวัดเชียงใหม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 15 ธันวาคม 2526 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2527 ไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงหมายเรียกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์โดยจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนำบัญชีและเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีไปให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตรวจสอบ แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินภาษีได้ประเมินภาษีอากรที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ต้องชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2525 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม2527 เพิ่มอีก 390,597 บาท และแจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ทราบ ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ได้รับแจ้งการประเมินแล้วแต่มิได้นำเงินภาษีอากรมาชำระภายในกำหนดและไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน จำเลยต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ค้างชำระ ต่อมาโจทก์ได้ยึดทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาดเป็นเงิน160,500 บาท มาชำระหนี้ภาษีอากรที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ค้างเมื่อหักเงินดังกล่าวออก จำเลยยังต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 เป็นเงิน 287,577.16 บาท โดยไม่รวมเงินเพิ่มที่ต้องคำนวณเพิ่มภายหลังตามกฎหมาย โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์ชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างดังกล่าวไม่น้อยกว่า2 ครั้ง และมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์และจำเลยเพิกเฉย ปิดสถานที่ประกอบธุรกิจและไม่ประกอบธุรกิจการค้าอีก จำเลยหลบหนีไปเสียจากเคหสถานที่อยู่อาศัยเพื่อประวิงการชำระหนี้และไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ประกอบกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวานันท์และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดมาชำระหนี้แก่โจทก์ หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาทขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยไม่ยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยอาจชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ได้ทั้งหมด เพราะจำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 665/2540 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวต้องชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลย 450,000 บาท ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอมท้ายฎีกาซึ่งโจทก์สามารถสวมสิทธิเข้าเรียกร้องให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้นั้น เห็นว่าแม้จำเลยเพิ่งยกข้อต่อสู้คดีดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา โดยมิได้นำสืบข้อเท็จจริงไว้ในชั้นพิจารณาทั้งที่มูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้พิพากษาตามยอมก่อนการสืบพยานจำเลยในคดีล้มละลายก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ก็ตามแต่แม้จำเลยจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวสามารถชำระหนี้แก่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาประนีประนอมยอมความหรือมีทรัพย์สินที่จำเลยอาจร้องขอให้บังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ นอกจากนั้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 เป็นสิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)เท่านั้นที่จะร้องขอให้บังคับคดี โจทก์มิใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีจึงไม่มีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว และโจทก์ไม่อาจเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายให้แก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีดังกล่าวมาแล้วตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6378/2539คดีระหว่างนายเหม เปี่ยมสุวรรณ โจทก์ นายชัยวัฒน์ เลิศนวพันธุ์ ผู้ร้องนางอุมาพร สมภู่ จำเลย ประกอบกับจำเลยไม่เคยขวนขวายชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยว่าอาจชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ได้ดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า คดีมีเหตุอันไม่ควรให้จำเลยล้มละลายโดยอ้างเหตุประการแรกว่า มูลหนี้ตามฟ้องขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า มูลหนี้ดังกล่าวที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายยังไม่ขาดอายุความ จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นประเด็นพิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาของจำเลยที่อ้างเหตุในประการที่สองว่าหนี้ค่าภาษีการค้ากับค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยค้างชำระโจทก์มีจำนวนเพียง 287,577.16 บาท ต่ำกว่าเกณฑ์การฟ้องให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาทจึงไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายนั้น เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับและคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาล จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ที่เป็นกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34 จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์จำนวนหนี้ขั้นต่ำที่อาจฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับดังกล่าวมาเปรียบเทียบและถือเป็นเหตุอันไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายได้ในคดีนี้กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้น ชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share