แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความตามหนังสือขอรับข้อเสนอที่มีถึงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ว่าขอรับข้อเสนอของจำเลย ยอมรับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยไม่ติดใจจะเรียกร้องฟ้องร้องหรือค่าตอบแทนอื่นใดจากจำเลยอีกทั้งสิ้น เป็นกรณีทำคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้เสนอ เอกสารดังกล่าวจำเลยจัดเตรียมไว้ให้โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นคำสนองของโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วมีการขีดฆ่าลายมือชื่อของตนออกเสียก่อน มีการลงวันที่ในหนังสือและก่อนนำเสนอต่อกรรมการผู้จัดการของจำเลย จึงไม่มีผลเป็นคำสนองรับคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงเป็นอันสิ้นความผูกพัน ไม่ก่อให้เกิดเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ใช่เรื่องการถอนการแสดงเจตนาเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 1,610,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานเพื่อลดต้นทุนและให้บริษัทอยู่รอด โจทก์แสดงเจตนายอมรับข้อเสนอของจำเลย และได้รับเงินค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและวันหยุดวันลาไปครบถ้วนตามกฎหมาย จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานด้วยความสมัครใจ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 600,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 มิถุนายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์โอนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยในปี 2546 โดยนับอายุงานต่อเนื่องมาจากการทำงานกับบริษัทเคพีเอ็มจีพีทมาร์วิคสุธี จำกัด ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 และบริษัทเคพีเอ็มจี ออดิท ประเทศไทย ปี 2541 ตามลำดับ รวมอายุการทำงานทั้งสิ้น 15 ปี โจทก์ทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการแผนกวางแผนทรัพยากร อัตราค่าจ้างเดือนละ 80,500 บาท จำเลยมีนโยบายและดำเนินการชักจูงนักศึกษาสาขาบัญชีที่ใกล้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้มาทำงานกับจำเลยหลังสำเร็จการศึกษาในอัตราค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท ในขณะที่จำเลยอ้างภาวะเศรษฐกิจถดถอยจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานเพื่อลดต้นทุนให้บริษัทจำเลยอยู่รอดโดยวิธีเลือกปลดลูกจ้างประมาณ 70 คน รวมทั้งโจทก์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 จำเลยจัดทำหนังสือขอรับข้อเสนอให้ลูกจ้างที่ถูกเลือกปลดออก ลงลายมือชื่อยินยอมเลิกสัญญาจ้างและยอมรับค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดตามกฎหมาย โดยไม่ติดใจเรียกร้องและฟ้องร้องหรือเรียกค่าตอบแทนอื่นใดจากจำเลยอีก ครั้งแรกโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือขอรับข้อเสนอไปแล้ว ต่อมาโจทก์คิดทบทวนใหม่จึงตามไปขีดฆ่าลายมือชื่อของตนออกและวันรุ่งขึ้นโจทก์ส่งมอบทรัพย์สินของบริษัทคืนจำเลยไม่ได้ทำงานกับจำเลยอีก จำเลยติดต่อให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือขอรับข้อเสนออีกแต่โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยจึงมีหนังสือส่งถึงโจทก์ทางไปรษณีย์ตอบรับ แจ้งการเลิกจ้างโจทก์ระบุเหตุเลิกจ้างว่าเนื่องจากปรับโครงสร้างขององค์กรในด้านผลการประกอบกิจการของจำเลยปรากฏว่า มีกำไรมาโดยตลอด ในปี 2551 จำเลยมีกำไร 62,540,000 บาท ลดลงจากปี 2550 เพียง 3,000,000 บาท ซึ่งจำเลยอ้างว่าผลกำไรเกิดจากการที่จำเลยลดค่าใช้จ่ายโดยปลดลูกจ้างออกเพื่อปรับปรุงโครงสร้างให้เหมาะสม ขณะเดียวกันจำเลยจ้างพนักงานด้านบัญชีใหม่ประมาณ 200 คน และยังคงประชาสัมพันธ์รับพนักงานใหม่ทางอินเทอร์เน็ตอยู่ แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในขณะที่ผลประกอบการมีกำไร ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันควร จึงถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า หนังสือขอรับข้อเสนอที่โจทก์ลงลายมือชื่อไปแล้วขีดฆ่าออกภายหลังมีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อความตามหนังสือขอรับข้อเสนอที่มีถึงกรรมการผู้จัดการของจำเลยขอรับข้อเสนอของจำเลย ยอมรับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมเป็นเงินสุทธิ 911,041 บาท โดยไม่ติดใจจะเรียกร้อง ฟ้องร้องหรือเรียกค่าตอบแทนอื่นใดจากจำเลยอีกทั้งสิ้นนั้น เป็นกรณีทำคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้เสนอ เมื่อเอกสารดังกล่าวฝ่ายจำเลยจัดเตรียมไว้ให้โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นคำสนองของโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วมีการแก้ไขขีดฆ่าลายมือชื่อของตนออกเสีย ก่อนมีการลงวันที่ในหนังสือและก่อนนำเสนอต่อกรรมการผู้จัดการของจำเลย จึงไม่มีผลเป็นคำสนองรับคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงเป็นอันสิ้นความผูกพันไป ไม่ก่อให้เกิดเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะมีผลผูกพันบังคับกันได้ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการถอนการแสดงเจตนาเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่จำเลยอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต่างสมัครใจยกเลิกหนังสือขอรับข้อเสนอไม่อาจบังคับตามหนังสือนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้เข้าปฏิบัติงานกับจำเลยนับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 จนถึงวันฟ้อง ถือว่าโจทก์ขาดงานเกินกว่า 3 วัน ติดต่อกัน เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือเงินสิทธิประโยชน์ใด ๆ แก่โจทก์ การที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ แก่โจทก์ไปด้วย จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้วนั้น เป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
มีปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังคำพยานโจทก์โดยขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 วรรคสอง นั้น เห็นว่า การสืบพยานในคดีแรงงานมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติวิธีการซักถามพยานไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ให้ศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือของฝ่ายจำเลยหรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธิซักถามพยานที่ตนอ้างมาหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง เว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตให้ซักถามได้เท่านั้น ทั้งการถามพยานฝ่ายที่ตนอ้างหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างนั้น ก็บัญญัติให้เป็นการซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้าง จึงไม่เป็นการถามค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 เมื่อการสืบพยานในคดีแพ่งทั่วไปแตกต่างจากการสืบพยานในคดีแรงงาน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 วรรคสอง มาอนุโลมใช้บังคับแก่การพิจารณาสืบพยานในศาลแรงงานได้ ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งนำสืบในภายหลังโดยโจทก์มิได้ซักถามพยานจำเลยเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในภายหลัง เพื่อให้พยานจำเลยได้อธิบายถึงข้อความเหล่านั้นก่อน จึงไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน