แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. นั้น ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระ 631,264.57 บาท จำเลยที่ 2 ชำระ 1,262,529.13 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทของหม่อมราชวงศ์สาริบุตร ผู้ตาย ร่วมกันชำระ 1,893,793.70 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ชำระ 408,960 บาท จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันรับผิด 613,440 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยทั้งห้าไม่ชำระ โจทก์ทั้งสองจึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 61204 ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ทั้งสองให้การขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของหม่อมราชวงศ์สาริบุตร ที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 และนางลัดดาวัลย์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางทรงศรีตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน หม่อมราชวงศ์สาริบุตรผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 แต่ภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2535 ตามสำเนาใบมรณบัตร ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียวที่ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ย่อมถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้ว และที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายอันเป็นมรดกของผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเพียงผู้เดียวตามพินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 แล้วเช่นกัน ประกอบกับในเวลาก่อนหรือขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ทั้งสองยังมิได้ฟ้องร้องให้ผู้ตายหรือทายาทของผู้ตายต้องรับผิดในมูลละเมิด ทั้งยังไม่ปรากฏด้วยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายในขณะผู้ตายถึงแก่ความตายจนกระทั่งการจัดการมรดกเสร็จสิ้นอันจะก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสองในอันจะบังคับชำระหนี้เอาจากกองมรดกของผู้ตายได้ จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ในอันที่จะถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง เมื่อภายหลังจำเลยที่ 3 และนางลัดดาวัลย์จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เองโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ หม่อมราชวงศ์สาริบุตรผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาอ้างว่า การโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการโอนโดยฉ้อฉลไม่สุจริตเพื่อหลบเลี่ยงมิให้โจทก์ทั้งสองบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร้องขัดทรัพย์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ