คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2529 ในวงเงิน 3,600,000 บาท ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 5 ยังเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อยู่ หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 อนุมัติให้ลาออก และให้จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการแทน จำเลยที่ 5 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในกิจการของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า หลังจากที่จำเลยที่ 5 ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาใช้วงเงินกับโจทก์อีก 6 ครั้ง ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำผู้ค้ำประกันคนเดิมรวมทั้งจำเลยที่ 6 มาทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่คงมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เท่านั้นที่เข้าทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 5 มิได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด เนื่องจากมิได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์เองมิได้ทักท้วงหรือปฏิเสธไม่ยอมทำสัญญาใช้วงเงินกับจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาครั้งที่ 2 ถึงที่ 7 เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 แล้ว และการที่โจทก์ยอมทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยยอมรับการทำสัญญาค้ำประกันของจำเลยอื่นโดยไม่มีจำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญาค้ำประกันนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 5 ต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับแรกอีกต่อไป นอกจากนั้นปรากฏว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่เกิดหลังจากจำเลยที่ 5 พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว ดังนั้นสัญญาค้ำประกันเดิมที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์จึงเป็นอันยกเลิกเพิกถอนไปในตัวโดยปริยาย โจทก์ไม่จำต้องทำหนังสือเพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ทำไว้และไม่จำต้องแสดงเจตนาว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดในสัญญาค้ำประกันอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 42,252,820.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 38,312,472.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ออกจากสารบบความตามคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจธนาคาร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 5 เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจนำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินหมุนเวียนเป็นเงินตราสกุลต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาจะใช้เงินเพื่อการส่งออกกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเงินไทยและเงินสกุลต่างประเทศ เช่น เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมาขายให้แก่โจทก์โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะต้องให้กรรมการของจำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมทุกครั้งที่ทำสัญญา โดยหากผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงินที่โจทก์ต้องถูกหักบัญชีจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มีการทำสัญญากับโจทก์ในการใช้วงเงิน 7 ครั้ง คือ ครั้งแรก ใช้วงเงิน 3,600,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และได้รับอนุมัติให้ลาออกจากที่ประชุมของผู้ถือหุ้น โดยมีมติของที่ประชุมให้จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการแทน ซึ่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาใช้วงเงินกับโจทก์อีก 6 ครั้ง โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เป็นผู้เข้าทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจึงหักบัญชีจากโจทก์นำเงินไปชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้วงเงินทำให้โจทก์ต้องเสียเงินจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 38,312,472.55 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหกรับผิดในจำนวนหนี้ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด แต่จำเลยทั้งหกไม่ชำระ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 เด็ดขาดในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความ คดีจึงขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 5
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงครั้งเดียว ในวงเงิน 3,600,000 บาท ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 5 ยังเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อยู่ หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 ก็ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และที่ประชุมผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 อนุมัติให้ลาออกและให้จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการแทนจำเลยที่ 5 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในกิจการของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า หลังจากจำเลยที่ 5 ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาใช้วงเงินกับโจทก์อีก 6 ครั้ง คือ ครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 7 ซึ่งโจทก์เองก็มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำผู้ค้ำประกันคนเดิมรวมทั้งจำเลยที่ 6 มาทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ในการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ครั้งต่อมา คงมีแต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เท่านั้นที่เข้าทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 5 มิได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด เนื่องจากมิได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์เองก็มิได้ทักท้วงหรือปฏิเสธไม่ยอมทำสัญญาใช้วงเงินกับจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 7 เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 แล้ว และการที่โจทก์ยอมทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยยอมรับการทำสัญญาค้ำประกันของจำเลยอื่นโดยไม่มีจำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญาค้ำประกันนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 5 ต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับแรกอีกต่อไป ดังนั้นสัญญาค้ำประกันเดิมที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ จึงเป็นอันยกเลิกเพิกถอนไปในตัวโดยปริยาย โจทก์ไม่จำต้องทำหนังสือเพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ทำไว้ และไม่จำต้องแสดงเจตนาว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดในสัญญาค้ำประกันอีก นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากจำเลยที่ 5 พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว คือหนี้ที่เกิดจากการทำสัญญาครั้งหลังระหว่างวันที่ 12 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2542 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 5 ที่จะต้องรับผิดในสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 อีกต่อไป จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share