คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่จำเลย เพราะจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจยศระดับพลตำรวจตรี 2 คน เพื่อช่วยเหลือให้บุตรสาวโจทก์สามารถสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าบุตรสาวโจทก์จะเข้ารับราชการตำรวจได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โดยการสอบคัดเลือกเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้โดยเสรีและที่สำคัญการจัดการสอบจะต้องยุติธรรมเพื่อที่ทางราชการจะได้คนมีความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หากมีการช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้สามารถสอบผ่านแสดงว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 143 และ 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติโดยโจทก์กับจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ประมาณเดือนเมษายน 2555 โจทก์ไปให้แพทย์แผนโบราณรักษาโรคโดยการฝังเข็มที่บ้านของจำเลย จำเลยบอกโจทก์ว่ารู้จักตำรวจยศพลตำรวจตรี 2 คน ที่สามารถช่วยเหลือให้นางสาวรัตนาภรณ์ บุตรโจทก์ที่สมัครสอบเข้ารับราชการตำรวจให้สอบเข้ารับราชการได้ โดยจำเลยจะเป็นคนกลางติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าว แต่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์เห็นว่าจำเลยเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคันพะลาน ตำบลคันพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี จึงหลงเชื่อ ต่อมาในวันที่ 17 เมษายน 2555 โจทก์มอบเงินงวดแรกจำนวน 150,000 บาท ให้แก่จำเลย งวดที่ 2 มอบเงินจำนวน 150,000 บาท ให้แก่นางอ๊อฟน้องจำเลย แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศผลการสอบปรากฏว่า นางสาวรัตนาภรณ์สอบไม่ผ่าน จำเลยแจ้งโจทก์ว่ากำลังติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2556 จำเลยบอกโจทก์ว่าให้นางสาวรัตนาภรณ์ ไปรายงานตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เมื่อไปถึงไม่มีชื่อนางสาวรัตนาภรณ์อีก โจทก์ทวงถามจำเลยให้คืนเงิน จำเลยบอกว่าจะคืนให้ แต่ไม่คืน โจทก์จึงร้องเรียนต่อนายวัชรพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2 อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ผู้บังคับบัญชาจำเลย นายวัชรพงศ์สอบถามโจทก์และจำเลยถึงเรื่องราวดังกล่าว จำเลยยอมรับว่ารับเงินจากโจทก์และจะคืนให้ทั้งหมด แต่จำเลยก็ไม่คืน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ทราบว่าจำเลยจะนำเงินจำนวน 300,000 บาท ไปจัดการอย่างไร แต่โจทก์ทราบดีว่าเหตุที่โจทก์มอบเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่จำเลย ก็เพราะจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจยศระดับพลตำรวจตรี 2 คน เพื่อช่วยเหลือให้นางสาวรัตนาภรณ์ สามารถสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่านางสาวรัตนาภรณ์จะเข้ารับราชการตำรวจได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โดยการสอบคัดเลือกเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้โดยเสรีและที่สำคัญการจัดการสอบจะต้องยุติธรรมเพื่อที่ทางราชการจะได้คนมีความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หากมีการช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้สามารถสอบผ่านแสดงว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้อง

Share